แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์สินของบริษัทคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นไปโดยยังไม่ได้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1269 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องบริษัทผู้ชำระบัญชีและผู้ถือหุ้นให้รับผิดต่อโจทก์ได้
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดการประเมินภาษีของบริษัทจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวภายใน 30 วัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) จึงหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งต่อศาลต่อไป
โจทก์ฟ้องให้จำเลยอื่นซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นให้ร่วมรับผิดในหนี้ภาษีเงินได้ของบริษัท จำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระ มิได้ฟ้องให้รับผิดในหนี้ภาษีเงินได้ส่วนตัวของจำเลยอื่น จึงไม่จำเป็นต้องเรียกจำเลยอื่นให้ปฏิบัติหรือตอบคำถามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 21
การที่เจ้าหนี้ติดตามหนี้สินคืนจากผู้ถือหุ้นที่ได้รับแบ่งทรัพย์สินของบริษัทไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นกลับคืนนั้น มิใช่เป็นเรื่องเรียกให้ชำระมูลค่าของหุ้นที่ยังส่งให้ไม่ครบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ประกอบกิจการขายที่ดินได้แสดงรายการกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้ไม่ถูกต้อง โดยนำเอารายจ่ายที่ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายมาหักเพื่อคำนวณหากำไรสุทธิ ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์จึงได้ปรับปรุงยอดกำไรสุทธิใหม่ทำให้จำเลยที่ ๑ ต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น และจำเลยที่ ๑ มิได้หักภาษีเงินได้ของลูกจ้างคนงานไว้ และนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายในกำหนด ต่อมาจำเลยที่ ๑ เลิกบริษัทจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ ๑ ด้วย ได้คืนเงินค่าหุ้นและแบ่งผลกำไรให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ โดยยังไม่ได้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างแก่โจทก์ เป็นการชำระบัญชีและแบ่งผลกำไรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ร่วมกันชำระค่าภาษีอากรที่ค้างให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ ให้การทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ มิได้นำรายจ่ายที่ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ได้ชำระบัญชีถูกต้องแล้ว และมิใช่กรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินหรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุอันควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินอีกร้อยละ ๒๐ ทั้งมิใช่ไม่ชำระภาษีอากรภายในกำหนด จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ เคลือบคลุม และจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวในฐานะผู้ถือหุ้นย่อมต้องรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๙ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ ๑ ได้ค้างชำระค่าภาษีโจทก์อยู่จริงตามฟ้องพิพากษาให้จำเลยทั้ง ๑๐ ร่วมกันชำระค่าภาษีอากรตามฟ้องให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งได้รับส่วนแบ่งไม่เกินจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องรวมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ โดยสิ้นเชิง ส่วนจำเลยที่เหลือให้รับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ได้รับส่วนแบ่งคืนไป
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๑๘ แล้ว จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ ย่อมพ้นจากการเป็นผู้ถือหุ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดในหนี้รายนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีตามฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ชำระบัญชีปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย โดยแบ่งทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ ๑ คืนให้แก่ผู้ถือหุ้นไปทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๖๙ ซึ่งบัญญัติว่า “อันทรัพย์สินของ ฯลฯ บริษัทนั้น จะแบ่งคืนให้แก่ ฯลฯ ผู้ถือหุ้นได้แก่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของ ฯลฯ บริษัทเท่านั้น” เมื่อมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องบริษัทผู้ชำระบัญชีและผู้ถือหุ้นให้รับผิดต่อโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๗๒ ข้อตัดฟ้องของจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ ที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่จึงฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีเพิ่มหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งจำนวนเงินค่าภาษีที่จำเลยที่ ๑ จะต้องชำระเพิ่มไปยังจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ โดยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามที่บัญญัติบังคับไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐ (๒) ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งในศาลต่อไป และต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีรายนี้ จะถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้เสียภาษีถูกต้องแล้วดังจำเลยที่ ๑ อ้างหาได้ไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้เรียกจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ ให้ปฏิบัติหรือตอบคำถามตามกฎหมาย จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดเสียภาษีเพิ่มดังฟ้องโจทก์พิเคราะห์แล้ว เห็นคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ร่วมรับผิดในหนี้ภาษีเงินได้ของบริษัทจำเลยที่ ๑ ที่ต้องชำระ มิได้ฟ้องให้รับผิดในหนี้ภาษีเงินได้ส่วนตัวของจำเลยทั้งสี่ ทั้งโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทจำเลยที่ ๑ แล้วจึงไม่จำเป็นต้องเรียกจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นให้ปฏิบัติหรือตอบคำถามอีก
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ เป็นผู้ถือหุ้นย่อมรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนหุ้นที่ตนยังส่งให้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือเท่านั้น แต่กรณีตามฟ้องนี้ จำเลยทั้งสี่ได้ชำระครบถ้วนตามมูลค่าของหุ้นที่ตนถือแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินของบริษัทจำเลยที่ ๑ และฎีกาว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์มีผลเท่ากับโจทก์ขอให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ คืนเงินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับไปโดยไม่ชอบนั้นกลับคืนให้แก่จำเลยที่ ๑ นั้น เป็นการวินิจฉัยเกินคำขอ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเลยที่ ๑ ทำงบดุลแสดงผลกำไรและเสียภาษีอากรไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรแล้วจ่ายคืนให้ผู้ถือหุ้นไปโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๖, ๑๒๖๙ ดังวินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น กรณีดังกล่าวเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกเอาคืนจากผู้ถือหุ้นเพื่อใช้ในกาชำระหนี้ของบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้ จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ ซึ่งได้รับแบ่งทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ ๑ ไปโดยไม่ชอบจะอ้างว่าได้ชำระครบถ้วนตามมูลค่าของหุ้นที่ตนถือแล้วจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินของบริษัทจำเลยที่ ๑ นั้นหาได้ไม่ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ผลเท่ากับโจทก์ขอให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ คืนเงินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับไปโดยไม่ชอบนั้นกลับคืนให้แก่จำเลยที่ ๑ นั้น เป็นเพียงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย หาเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอไม่
พิพากษายืน