แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาตก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์” ซึ่งหมายความว่า หากจำเลยประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การ จำเลยจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การเพราะเหตุใด มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลยทั้งนี้ ศาลมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างอิงในคำร้องว่าเป็นเหตุผลอันสมควรอนุญาตหรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลชั้นต้นจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้งหนึ่ง จำเลยยังคงยืนยันให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย โดยจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาศาลชั้นต้นให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 มิถุนายน 2547 แต่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยขอยื่นคำให้การฉบับใหม่เป็นให้การปฏิเสธในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร โดยอ้างว่าไม่เข้าใจข้อกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วถึง 2 ครั้ง จำเลยก็ให้การรับสารภาพ ซึ่งแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาในความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว การที่จำเลยขอถอนคำให้การรับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร หลังจากที่ให้การรับสารภาพมาแล้วประมาณ 2 เดือนเศษ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยไม่เข้าใจข้อกฎหมายนั้น เห็นได้ว่าเป็นการให้การปฏิเสธเพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีกส่อไปในทางประวิงคดีให้ล่าช้า จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยพราก ส.พ. อายุ 14 ปีเศษ ผู้เสียหายไปจาก ส.น. มารดา เพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายเต็มใจไปด้วย แล้วจำเลยล่วงเกินทางเพศผู้เสียหาย โดยกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่โดยผู้เสียหายยินยอม เหตุเกิดที่ตำบลโคกคราม และตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 279, 317, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ในระหว่างศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การรับสารภาพข้อหาพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร เป็นให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 279 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงยินยอมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาตก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์” ซึ่งหมายความว่าหากจำเลยประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การ จำเลยจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การเพราะเหตุใด มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลย ทั้งนี้ ศาลมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างอิงในคำร้องว่าเป็นเหตุผลอันสมควรอนุญาตหรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลชั้นต้นจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้งหนึ่ง จำเลยยังคงยืนยันให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นจึงสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย โดยจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 มิถุนายน 2547 แต่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยขอยื่นคำให้การฉบับใหม่เป็นให้การปฏิเสธในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารโดยอ้างว่าไม่เข้าใจข้อกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วถึง 2 ครั้ง จำเลยก็ให้การรับสารภาพซึ่งแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาในความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว การที่จำเลยขอถอนคำให้การรับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารหลังจากที่ให้การรับสารภาพมาแล้วประมาณ 2 เดือนเศษ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยไม่เข้าใจข้อกฎหมายนั้น เห็นได้ว่าเป็นการให้การปฏิเสธเพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีกส่อไปในทางประวิงคดีให้ล่าช้า จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การนั้นชอบแล้ว
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 277 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย”
พิพากษายืน