คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 72/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องบรรยายว่า จำเลยบังอาจถอดสร้อยคอโจทก์ ภายหลังไปขอคืนก็ไม่คืนให้ ขอให้ลงโทษตาม มาตรา 314 ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แม้โจทก์จะเบิกความว่า โจทก์ไม่ยินยอมให้ถอดอันแสดงว่า โจทก์มิได้มอบหมายทรัพย์นั้นให้ก็ดีก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์พยานต่อไปเพราะถ้าไต่สวนได้ความตามฟ้อง แต่โจทก์อ้างบทผิด ศาลก็ลงโทษตามบทที่ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่ประทับฟ้องความผิดฐานยักยอก โดยวินิจฉัยว่า จำเลยถอดสร้อยคอเอาเองโดยไม่มีการมอบหมาย จึงไม่ใช่เรื่องยักยอก

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ในข้อหาฐานยักยอกมีว่า “ฯลฯ จำเลยที่ 9 ได้บังอาจสมคบกันถอดสายสร้อยคอทองคำพร้อมด้วยตาบทองคำอย่างละเส้นหนึ่งอันกับแหวนทองคำหนึ่งวง จากคอและนิ้วมือข้าพเจ้าโจทก์ โดยอ้างว่าจะเก็บไว้ให้ ต่อมาข้าพเจ้าโจทก์ขอคืนจากจำเลยทั้งสอง ๆ ว่าค่อยคืนให้ เขาเก็บไว้ให้ไม่สูญหาย ในที่สุดไม่คืนให้จนกระทั่งบัดนี้ทั้งนี้โดยจำเลยคิดทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ที่ดังกล่าวแล้วเป็นประโยชน์ตนและของผู้อื่นเสีย” และในท้ายฟ้องอ้างมาตรา 314 เป็นบทลงโทษ ตามคำบรรยายฟ้อง ดังนี้ โจทก์มิได้กล่าวถึงความยินยอมของโจทก์ และตามถ้อยคำของโจทก์ที่อ้างตนเองในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแม้โจทก์จะพูดว่าโจทก์ไม่ยอม แต่เมื่อจำเลยเข้าถอดโดยพูดว่าเกรงว่าของจะตกหายเสีย โจทก์ก็ไม่ได้ดิ้นรนขัดขวางแต่ประการใด จึงเป็นข้อเท็จจริงที่น่าจะได้รับความพิเคราะห์ต่อไป อย่างไรก็ดีหากข้อเท็จจริงได้ความสมคำฟ้อง แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลก็ยังมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 จึงพิพากษากลับให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา

Share