แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ จำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกอีก 6 คน เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินต่างกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 4,880,000 บาท ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 และเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้ไล่เบี้ยผู้ค้ำประกันอื่นได้ตามสัดส่วนที่ผู้ค้ำประกันแต่ละคนเข้าผูกพันชำระหนี้ตามมาตรา 693 ประกอบมาตรา 229 (3), 296 การที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 3,020,952.37 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย โดยมิได้ระบุสัดส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย และโจทก์ได้นำยอดหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายนั้น ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงของคำพิพากษาดังกล่าวแล้วโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แม้คำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 3 เพิ่งยกขึ้นอ้างส่งในชั้นอุทธรณ์ แต่การพิจารณาคดีล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 กำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามสัดส่วนที่ทำสัญญาค้ำประกันไว้ในวงเงินเพียง 500,000 บาท และมียอดหนี้คำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้ไม่ถึง 1,000,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การ
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2547 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2349/2547 โดยมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยโจทก์ค้ำประกันในวงเงิน 4,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ค้ำประกันในวงเงิน 6,000,000 บาท และจำเลยที่ 3 กับพวกอีก 6 คน ค้ำประกันในวงเงิน 500,000 บาท จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง และเมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 4,880,000 บาท ให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 และเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ไล่เบี้ยผู้ค้ำประกันคนอื่นได้ตามสัดส่วนที่ผู้ค้ำประกันแต่ละคนเข้าผูกพันชำระหนี้ ซึ่งเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนเท่ากับโจทก์ค้ำประกัน 8 ส่วน จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน 12 ส่วน และจำเลยที่ 3 ค้ำประกัน 1 ส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 ประกอบมาตรา 229 (3), 296 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 4,880,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 3,020,952.37 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 จนกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545) ไม่เกินจำนวน 83,227.40 บาท ตามสำเนาคำพิพากษานั้น คำพิพากษาในส่วนที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 3,020,952.37 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เป็นยอดหนี้ค้ำประกันจำนวน 12 ส่วน ที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดแต่มิได้พิพากษาโดยระบุสัดส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ด้วยจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ตรงกับเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เมื่อต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้นแล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2549 โดยแก้ไขเพิ่มเติมข้อความเป็นว่า พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 4,880,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 3,020,952.37 บาท ตามสัดส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาฉบับเดิมตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาเอกสารท้ายอุทธรณ์ แม้พยานเอกสารดังกล่าวจำเลยที่ 3 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดแล้ว แต่การพิจารณาคดีล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 กำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 กล่าวอ้างในอุทธรณ์แล้วว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามสัดส่วนที่ทำสัญญาค้ำประกันคือจำนวน 1 ส่วน เป็นต้นเงิน 232,380.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไป และจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวไม่เกินปีละ 18,000 บาท โจทก์ฟ้องเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ยอดหนี้จึงยังไม่ถึง 1,000,000 บาท นั้นการคำนวณยอดหนี้ดังกล่าวโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านให้รับฟังเป็นประการอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วว่า จำเลยที่ 3 เป็นหนี้โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน 232,380.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 โดยจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดดอกเบี้ยค้างชำระไม่เกินปีละ 18,000 บาท เมื่อโจทก์เพิ่งนำยอดหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลาย เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 จำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนไม่ถึง 1,000,000 บาท โจทก์ไม่อาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (2) ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 3 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง