คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้นเป็นการลงโทษในอัตราโทษขั้นต่ำสุดตามกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษเบากว่านี้ได้
จำเลยที่ 1 ถูกจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจย่อมนำจำเลยที่ 1 ไปค้นหายาเสพติดให้โทษที่บ้านของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว ทั้งปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนตรวจพบอยู่ในห้องน้ำอย่างเปิดเผย การที่จำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลโดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งซุกซ่อนอยู่ที่บ้านและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีกที่บ้านของจำเลยที่ 1 ยังไม่นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด
แม้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 วางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้อีกก็ตาม แต่ความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม มีโทษจำคุกและปรับ และตามมาตรา 100/1 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทั้งโทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่งซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ได้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตและปรับจำเลยที่ 1 ด้วยการเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 97 จึงเพิ่มโทษปรับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จึงเป็นการมิชอบ แต่โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่อาจเพิ่มโทษปรับได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 10 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัดไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนพกลูกโม่ขนาด .38 ไม่มีเครื่องหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้จำนวน 1 กระบอก กับกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 6 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนพร้อมด้วยกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปบริเวณถนนหน้าโรงแรมวีวี หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี อันเป็นในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุผลสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่จะต้องมีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี กับจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 1,540 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเมื่อรวมกับเมทแอมเฟตามีน จำนวน 10 เม็ด ดังกล่าวแล้วมีน้ำหนัก 139.25 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 41.206 กรัม เหตุเกิดที่ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,550 เม็ด อาวุธปืนและกระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองและได้พาติดตัวไปเป็นของกลาง ก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 424/2546 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมายอันเป็นความผิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำขณะที่จำเลยที่ 1 มีอายุเกินกว่า 17 ปี และมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 พ้นโทษดังกล่าว จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริมเมทแอมเฟตามีนและอาวุธปืนของกลาง กับเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม, 67 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก ไม่ต้องระบุวรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมาย บทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย วางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 และเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นลงโทษจำคุก 75 ปี และปรับ 1,500,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 76 ปี 6 เดือน และปรับ 1,500,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 38 ปี 3 เดือน และปรับ 750,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนและอาวุธปืนของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี 9 เดือน และปรับ 500,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไป ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทหรือประหารชีวิต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้นเป็นการลงโทษในอัตราโทษขั้นต่ำสุดตามกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษเบากว่านี้ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด แล้วจำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยที่ 1 ยังมีเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งซุกซ่อนอยู่ที่บ้านและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีก จำนวน 1,540 เม็ด ที่บ้านของจำเลยที่ 1 อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจย่อมนำจำเลยที่ 1 ไปค้นหายาเสพติดให้โทษที่บ้านของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว ทั้งปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนตรวจพบอยู่ในห้องน้ำอย่างเปิดเผย การที่จำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลดังกล่าวยังไม่นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงไม่มีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าวที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับการเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้น คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต และลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ด้วย แม้เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้อีกก็ตาม แต่ความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม มีโทษจำคุกและปรับ และตามมาตรา 100/1 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทั้งโทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ได้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตและปรับจำเลยที่ 1 ด้วยดังที่ กล่าวมาแล้ว การเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 จึงเพิ่มโทษปรับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้เพิ่มโทษปรับจำเลย ที่ 1 จึงเป็นการมิชอบ แต่โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่อาจเพิ่มโทษปรับได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 และจำเลยที่ 1 ถูกลงโทษปรับ แต่ศาลชั้นต้นมิได้ระบุให้ชัดเจนในกรณีที่การกักขังแทนค่าปรับและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้แก้ไขในส่วนนี้นั้น เห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน”
พิพากษายืน แต่ให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี

Share