คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการรับชำระเงินค่าไฟฟ้า แต่ในทางปฏิบัติจะมีคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาให้พนักงานในแผนกหมุนเวียนช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับใบเสร็จรับเงินและเงินสดจากผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินค่าใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วเบียดบังเป็นของตน จึงมีความผิดฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐเบียดบังทรัพย์ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการเป็นของตนโดยทุจริต และเป็นการกระทำที่มีเจตนาเบียดบังตามวาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายชำระ จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน
ก. ได้รับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม 2541 ซึ่งมีการระบุจำนวนเงินแน่นอนแล้ว เมื่อ ก. นำเงินไปชำระแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการรับชำระเงินค่าไฟฟ้าและออกใบเสร็จรับเงิน ย่อมไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 2 จะต้องเขียนค่าไฟฟ้าทั้งสองจำนวนลงในเศษกระดาษอีก ทั้งการประทับตรายางว่า ชำระเงินแล้วโดยมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 และวันเดือนปีกำกับในเศษกระดาษดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำเป็นหลักฐานมอบให้แก่ ก. ว่าได้ชำระเงินแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการออกใบเสร็จรับเงินตามระเบียบของผู้เสียหาย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 91, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดต่างกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยที่ 1 มีความผิดรวม 7 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 35 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 10 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 23 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยทั้งสองให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐเบียดบังทรัพย์ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการเป็นของตนโดยทุจริต และเป็นการกระทำความผิดอันเป็นกรรมเดียวหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่คุมลูกหนี้ค่าไฟฟ้าเท่านั้น การคุมใบเสร็จรับเงินและรับเงินค่าไฟฟ้าไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินไปจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นั้น เห็นว่า แม้ตามประวัติย่อพนักงานและคำสั่งของผู้เสียหายจะระบุว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่คุมบัญชีลูกหนี้ค่าไฟฟ้า แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายพันธุ์ชัย หัวหน้าแผนกบัญชีและการเงิน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ว่า ในทางปฏิบัติจะมีคำสั่งด้วยวาจาให้พนักงานในแผนกหมุนเวียนช่วยเหลือกันปฏิบัติหน้าที่ โดยในการรับเงินช่วงพักเที่ยงได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับใบเสร็จรับเงินและเงินสดแล้วส่งมอบให้จำเลยที่ 2 ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ดังนี้ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับใบเสร็จรับเงินและเงินสดจากผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินค่าใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วเบียดบังเป็นของตน จึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐเบียดบังทรัพย์ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการเป็นของตนโดยทุจริต และเป็นการกระทำที่มีเจตนาเบียดบังตามวาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายชำระ จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ไม่ใช่ความผิดอันเป็นกรรมเดียวดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า ไม่ปรากฏว่าผู้ใช้ไฟฟ้าตามใบเสร็จรับเงินที่อยู่กับจำเลยที่ 2 ค้างชำระค่าไฟฟ้านั้น เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรแก่การวินิจฉัย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐเบียดบังทรัพย์ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการเป็นของตนโดยทุจริต สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายนางสาวกิจการ กับนายดวงแก้ว หรือไม่ โจทก์มีนายพันธุ์ชัย หัวหน้าแผนกบัญชีและการเงินซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานว่า พยานตรวจสอบพบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองรายดังกล่าวไม่ได้รับใบเสร็จรับเงิน โดยรายนางสาวกิจการมีเศษกระดาษที่จำเลยที่ 2 บันทึกว่ารับเงินแล้ว มอบให้เท่านั้น โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้ จึงเป็นการกระทำที่ผิดปกติในหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เห็นว่า นางสาวกิจการได้รับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม 2541 ซึ่งมีการระบุจำนวนเงินแน่นอนแล้ว เมื่อนางสาวกิจการนำเงินไปชำระแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการรับชำระเงินค่าไฟฟ้าและออกใบเสร็จรับเงิน ย่อมไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 2 จะต้องเขียนค่าไฟฟ้าทั้งสองจำนวนลงในเศษกระดาษอีก ทั้งการประทับตรายางว่าชำระเงินแล้วโดยมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และวันเดือนปีกำกับในเศษกระดาษดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำเป็นหลักฐานมอบให้แก่นางสาวกิจการว่าได้ชำระเงินแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการออกใบเสร็จรับเงินตามระเบียบของผู้เสียหาย อีกทั้งโจทก์ยังมีคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การที่ระบุว่า จำเลยทั้งสองร่วมรู้เห็นกันในการไม่นำเงินค่าไฟฟ้าเข้าบัญชีผู้เสียหายแต่นำมาแบ่งกัน ซึ่งไม่ใช่คำให้การซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิด เพราะจำเลยที่ 1 ก็ถูกดำเนินคดีด้วย จึงสามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานโจทก์ได้ นอกจากนี้หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ทำหนังสือยอมรับว่าจำเลยที่ 2 นำเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 มาใช้แทนเงินสดที่ได้รับเป็นจำนวน 10 ฉบับ รวมเป็นเงิน 271,404.29 บาท ทำหนังสือยอมรับความเสียหายที่ก่อขึ้นโดยทำบันทึกขอผ่อนชำระหนี้ ทำหนังสือขอไม่ให้ผู้เสียหายดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และทำหนังสือยอมรับว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเงินของผู้เสียหายไปใช้ในการมิชอบ ซึ่งสนับสนุนพยานหลักฐานโจทก์ให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักนั้น เห็นว่า นอกจากคำให้การของจำเลยที่ 1 จะมิใช่คำซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดแล้ว โจทก์ก็มีพยานบุคคลและพยานเอกสารที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 และศาลเพียงแต่นำคำให้การของจำเลยที่ 1 มารับฟังประกอบพยานหลักฐานโจทก์เท่านั้น พยานหลักฐานจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าประธานกรรมการและกรรมการของผู้เสียหายเป็นใครมีจำนวนเท่าใด และมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไร หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์จึงไม่ผูกพันผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรแก่การวินิจฉัย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน

Share