คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15025-15026/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 กึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่กำหนดให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 รับผิดกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งให้จำเลยที่ 7 รับผิด โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์คัดค้านแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้หักจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กึ่งหนึ่งตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว ให้จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 535,000 บาท ต่อโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 535,000 บาท จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 กับจำเลยที่ 7 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กึ่งหนึ่งแทนที่จะรับผิดเพียงหนึ่งในสี่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเมื่อหนี้ดังกล่าวศาลชั้นต้นแบ่งความรับผิดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 7 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว จึงไม่ใช่การชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าว จึงเป็นผลให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 กับจำเลยที่ 7 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เกินไปกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดโดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 และที่ 6 ฟังขึ้นบางส่วน และปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 7 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 3,200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,915,702.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,800,190 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงกันได้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 517,500 บาท จำเลยที่ 7 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 517,500 บาท ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 535,000 บาท จำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 267,500 บาท และจำเลยที่ 7 รับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 267,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิด สำหรับโจทก์ที่ 1 นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2541 ส่วนโจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาท และพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นไปตามที่ตกลงกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 5 ให้เป็นพับ ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนชนะคดี
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อหักจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กึ่งหนึ่งตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว จึงให้จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 535,000 บาท และต่อโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 535,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 4, ที่ 6 และที่ 7 ใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงกันได้ และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2552
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้เถียงกันฟังได้ว่า นายกมล เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 นายพิภพ เป็นสามีของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 3626 บุรีรัมย์ และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 80 – 5184 บุรีรัมย์ โดยมีนายลอย เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในวันเกิดเหตุนายลอยได้ขับรถบรรทุกพร้อมด้วยรถพ่วงของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุมีการซ่อมบำรุงรักษาถนนโดยจำเลยที่ 7 เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการซ่อมถนนดังกล่าว และได้ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ซ่อมแซมถนนบริเวณที่เกิดเหตุ มีจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 เป็นผู้ควบคุมงาน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 และที่ 6 จัดให้ลูกจ้างของตนยืนโบกธงเขียว ธงแดง เพื่อให้รถสลับกันวิ่งเพียงช่องทางเดียวที่จะลงจากเนินเขาและขึ้นเนินเขา ได้หยุดรอเพื่อให้อีกทางหนึ่งไปได้ โดยได้ให้สัญญาณธงแดงเพื่อให้รถที่ลงจากเนินเขาหยุดรอ ทำให้มีรถโดยสาร รถจักรยานยนต์ รถยนต์หมายเลขทะเบียน ย – 1036 นครราชสีมา ที่มีนายกมลและนายพิภพนั่งมาด้วย รถกระบะป้ายแดงหมายเลขทะเบียน 32005 และรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 พ – 6228 กรุงเทพมหานคร หยุดรอตามลำดับ แต่นายลอยได้ขับรถบรรทุกสิบล้อพร้อมรถพ่วงลงจากเนินเขาทางลาดชันและโค้งเฉี่ยวชนรถที่จอดรอสัญญาณธงแดงอยู่ ได้รับความเสียหายและรถพ่วงหลุดจากรถบรรทุกสิบล้อทับรถยนต์คันที่นายกมลและนายพิภพนั่งมา ทำให้นายกมลและนายพิภพถึงแก่ความตาย และยังมีบุคคลอื่นรวมทั้งนายลอยถึงแก่ความตายด้วย คดีสำหรับโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความมิได้อุทธรณ์ คดีในส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนคดีของโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา คดีในส่วนนี้จึงยุติไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 7 ว่า จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพียงใด เห็นว่า บุตรโจทก์ที่ 1 ขณะถึงแก่ความตายมีอายุ 36 ปี มีรายได้เดือนละ 12,080 บาท ส่วนสามีโจทก์ที่ 2 ขณะถึงแก่ความตายมีอายุ 54 ปี มีรายได้เดือนละ 21,970 บาท โดยผู้ตายทั้งสองรับราชการครู เมื่อพิจารณาถึงเงินเดือนและระยะเวลาที่เหลือในหน้าที่การงานที่ทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องขาดไร้ค่าอุปการะแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 1,000,000 บาทนั้น จึงเหมาะสมแล้ว ส่วนของค่าปลงศพ จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 มิได้นำสืบหักล้างว่าค่าใช้จ่ายตามเอกสารมีจำนวนใดไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมอย่างไร และค่าปลงศพที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 70,000 บาท นั้น จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้วเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 รับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยโจทก์ที่ 2 มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 4 และที่ 6 จึงควรรับผิดค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิน 250,000 บาท เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 กึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่กำหนดให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 รับผิดกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งให้จำเลยที่ 7 รับผิด โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์คัดค้านแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้หักจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กึ่งหนึ่งตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว ให้จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 535,000 บาท ต่อโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 535,000 บาท จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 กับจำเลยที่ 7 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กึ่งหนึ่งแทนที่จะรับผิดเพียงหนึ่งในสี่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเมื่อหนี้ดังกล่าวศาลชั้นต้นแบ่งความรับผิดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 7 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว จึงไม่ใช่การชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าวจึงเป็นผลให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 กับจำเลยที่ 7 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เกินไปกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดโดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 และที่ 6 ฟังขึ้นบางส่วน และปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 7 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
อนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ที่ 2 ในระหว่างฎีกา จึงเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลเจ็ดในแปดส่วนให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 นั้น พิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2552 ตามที่ตกลงกัน ให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินคนละ 267,500 บาท ให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินคนละ 267,500 บาท ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 11,705 บาท แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share