คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยในคดีก่อน มีเจตนาเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ส่วนการกระทำของจำเลยในคดีนี้ มีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเจตนาของการกระทำผิดทั้งสองข้อหาแตกต่างกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่เป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) หลังจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้แล้ว โจทก์ไม่อุทธรณ์ ถือว่าโจทก์พอใจในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะนำเรื่องการบวกโทษขึ้นมาวินิจฉัยบวกโทษอีกไม่ได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นกรรมการ โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าผลิตท่อน้ำพีวีซีและน้ำยาซีเมนต์ (กาว) ออกจำหน่าย ในการผลิตน้ำยาซีเมนต์ (กาว) ออกจำหน่ายนั้น โจทก์ใช้ชื่อในการประกอบการค้าว่าท่อน้ำไทย มีข้อความในวงเล็บว่า (สำหรับเชื่อมต่อท่อ)อยู่ใต้ชื่อท่อน้ำไทย มีชื่อภาษาอังกฤษกับคู่กับชื่อภาษาไทยเขียนว่า “THAI PIPE” และใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปวงกลม3 วงนั้น และล้อมรอบด้วยสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน 2 ชิ้นโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ตั้งแต่วันที่22 กันยายน 2530 ในสินค้าจำพวกที่ 1 สำหรับสินค้าน้ำยาเคมีที่มีลักษณะข้นคล้ายกาวใช้ในการอุด ปะ เชื่อม และประสานท่อพีวีซีเพื่อให้ติดแน่น ระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2530 ถึงวันที่ 27สิงหาคม 2534 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันผลิตสินค้าประเภทกาวเชื่อมท่อพีวีซีและเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเลียนชื่อการประกอบการค้าของโจทก์ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าที่จำเลยทั้งสี่ผลิตออกมานั้นเป็นเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์โดยเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทั้งสี่ใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสี่นั้นเป็นรูปวงกลม 5 วง วางเรียงกันมีเส้นทึบ 2 เส้น อยู่ใต้และเหนือวงกลมดังกล่าวแล้วล้อมรอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนในแนวนอนเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สินค้าที่จำเลยทั้งสี่ผลิตออกจำหน่ายโดยเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเลียนชื่อในการประกอบการค้าของโจทก์ได้บรรจุกระป๋องกลม 2 ขนาด เช่นเดียวกับสินค้าที่โจทก์ผลิตออกจำหน่าย คือ ขนาด 500 กรัม และ 100 กรัม สลากข้างกระป๋องก็เหมือนของโจทก์ก่อนคดีนี้จำเลยที่ 2 เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานจำหน่ายสินค้าซึ่งปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4883/2534 ของศาลแขวงดุสิต และภายในไว้ 1 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4883/2534 ของศาลแขวงดุสิตและภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษดังกล่าว จำเลยที่ 2ได้มากระทำความผิดคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 274, 83, 91 และ 58 และบวกโทษของจำเลยที่ 2ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4883/2534ของศาลแขวงดุสิต เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1และที่ 2 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสอง (ที่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2)มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 ประกอบมาตรา 83ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 6 เดือน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บวกโทษจำคุก 3 เดือนของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4883/2534ของศาลแขวงดุสิต เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นสั่งมารับข้อแรกว่า โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5214/2534 ของศาลแขวงตลิ่งชัน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) หรือไม่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 274 และมาตรา 275 เจ้าพนักงานจับกุมในวันเดียวกันของกลางที่ยึดเป็นของกลางเดียวกัน และต่อมาได้มีการทำลายของกลางไปแล้ว ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวกันซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสร็จเด็ดขาดไปแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 39(4) เมื่อคดีนี้มีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า คดีก่อนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกฟ้องฐานเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5214/2534 ของศาลแขวงตลิ่งชัน ส่วนคดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกฟ้องว่าร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 274 โจทก์ประกอบกิจการผลิตท่อน้ำพีวีซีและผลิตน้ำยาซีเมนต์(กาว) ออกจำหน่าย โดยในการผลิตน้ำยาซีเมนต์สำหรับเชื่อมต่อท่อน้ำพีวีซีออกจำหน่าย โจทก์ใช้ชื่อในการประกอบการค้าว่า”ท่อน้ำไทย” มีชื่อภาษาอังกฤษกำกับคู่กับชื่อภาษาไทยว่า”THAI PIPE” และใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปวงกลม 3 วงวางเรียงกันในแนวนอนโดยมีเส้นทึบ 3 เส้น ซ้อนกันอยู่ใต้วงกลมทั้งสามวงดังกล่าว วงกลมและเส้นทึบนี้ล้อมรอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน 2 ชั้น โดยสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนชั้นในสุดเป็นเส้นบางส่วนชั้นนอกเป็นเส้นหนา ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อกรมทะเบียนการค้าตั้งแต่ปี 2530 ปรากฏตามสำเนาหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.6 ในการจำหน่ายน้ำยาซีเมนต์ดังกล่าวโจทก์จะนำสินค้าดังกล่าวบรรจุในภาชนะกระป๋องสังกะสีทรงกระบอกขนาดบรรจุ 100 กรัม 500 กรัม และ1,000 กรัม ตามกระป๋องวัตถุพยานหมาย จ.7 หลังจากที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ร่วมกันผลิตสินค้าประเภทเดียวกับโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปวงกลม 5 วง เรียงกัน มีเส้นทึบ 2 เส้นอยู่ใต้และเหนือวงกลมแล้วล้อมรอบด้วยสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนในแนวนอนซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์และนำสินค้าที่ผลิตขึ้นดังกล่าวบรรจุในกระป๋องสังกะสีกระบอกขนาดบรรจุ 100 กรัม และ 500 กรัม ตามกระป๋องวัตถุพยานหมาย จ.9ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2534 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมได้พร้อมด้วยของกลางน้ำยาซีเมนต์ “ท่อไทย” บรรจุในกระป๋องทรงกระบอก ขนาดบรรจุ 100 กรัม รวม 7,060 กระป๋องและขนาดบรรจุ 500 กรัม รวม 780 กระป๋อง ซึ่งมีเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นกำกับอยู่ที่ข้างกระป๋อง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 274 และมาตรา 275 เกี่ยวข้องกับสินค้าของกลางจำนวนเดียวกัน ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7214/2534ของศาลแขวงตลิ่งชัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.15 เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีก่อน มีเจตนาเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้มีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเจตนาของการกระทำผิดทั้งสองข้อหาแตกต่างกัน การกระทำผิดของจำเลยที่ 1และที่ 2 จึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่เป็นการฟ้องซ้ำไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจนำโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4883/2534 ของศาลแขวงดุสิต มาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ได้หรือไม่ ข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้มิได้เกิดขึ้นภายในกำหนดเวลาที่ศาลให้รอการลงโทษในคดีก่อน จึงนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีมาบวกกับโทษจำคุกในคดีนี้ไม่ได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เองว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดคดีนี้ภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก นั้น เห็นว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่นำโทษจำคุกของจำเลยที่ 2ที่รอไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้แล้ว โจทก์ไม่อุทธรณ์ถือว่าโจทก์พอใจในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนการพิจารณาพิพากษาชั้นอุทธรณ์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 บัญญัติว่า คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้นฉะนั้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ปัญหาเรื่องการบวกโทษแล้ว บทบัญญัติมาตรานี้ห้ามศาลอุทธรณ์นำเรื่องการปรับโทษขึ้นมาวินิจฉัยอีก เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่ามีอำนาจบวกโทษจำเลยที่ 2 ได้เองนั้นจึงไม่ชอบ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share