คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18623/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 แต่การติดต่อซื้อขายรถระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นั้น กระทำการในที่ทำการและเวลาทำการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้แสดงให้โจทก์หรือบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 แล้ว การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 2 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมเป็นการกระทำในขอบอำนาจแห่งตัวแทนเพื่อกิจการค้าขายที่จำเลยที่ 1 จะถือเอาประโยชน์จากกิจการนั้นได้ ไม่ว่าการที่จำเลยที่ 2 รับซื้อรถคันเก่าจากโจทก์โดยนำไปฝากขายที่เต็นท์รถมือสอง จะเป็นการกระทำโดยจำเลยที่ 1 จะมีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อรถเก่าจากลูกค้าหรือไม่ก็ตาม ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการส่วนหนึ่งของการขายซึ่งเป็นไปตามนโยบายการขายของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำในหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันต่อโจทก์ในกิจการที่จำเลยที่ 2 กระทำไปด้วย แม้จะปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 อาจเป็นเรื่องการกระทำโดยผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเรื่องกิจการภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 เอง ไม่อาจยกเป็นข้ออ้างต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อให้ตนพ้นผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 161,038 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 123,888 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 161,038 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 123,888 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน ตย 5011 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยทั้งสอง โดยนำรถยนต์หมายเลขทะเบียน บน 5964 จันทบุรี ซึ่งโจทก์ซื้อจากนางสาวสุภาพ หลานของโจทก์ แต่คงมีชื่อนางสาวสุภาพ เป็นผู้เช่าซื้อจากบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) มาเสนอขายเพื่อหักทอนกับราคาขายรถคันใหม่และตกลงราคาซื้อขายรถคันเก่า 160,000 บาท แต่หักชำระเป็นเงินดาวน์รถคันใหม่ได้เพียง 36,112 บาท เพราะจะต้องนำเงินส่วนต่าง 123,888 บาท ไปชำระค่าเช่าซื้อรถคันเก่าที่ยังค้างชำระต่อบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เสียก่อน ซึ่งจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ดำเนินการชำระค่าเช่าซื้อให้โดยจะนำรถไปฝากขายที่เต็นท์รถมือสอง แต่มิได้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามที่ตกลงกับโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 123,888 บาท แทนนางสาวสุภาพ และเสียค่าติดตามรถคืน 5,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ไปโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการติดตามรถคืนให้โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเงินจำนวนดังกล่าวด้วยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่โจทก์ตกลงขายรถคันเก่าให้แก่จำเลยที่ 2 ก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 1 และเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อรถของโจทก์ไว้ตามหน้าที่ในกิจการของจำเลยที่ 1 จึงถือเป็นตัวแทนกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 แต่การติดต่อซื้อขายรถระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นั้น กระทำการในที่ทำการและเวลาทำการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย สาขาบางนา ของจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์ย่อมแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้แสดงให้โจทก์หรือบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ดังนั้น การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 2 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมเป็นการกระทำในขอบอำนาจแห่งตัวแทนเพื่อกิจการค้าขายที่จำเลยที่ 1 จะถือเอาประโยชน์จากกิจการนั้นได้ ดังนั้น ไม่ว่าการที่จำเลยที่ 2 รับซื้อรถคันเก่าจากโจทก์ โดยนำไปฝากขายที่เต็นท์รถมือสอง ตามข้อความระบุว่า “รถเก่าเต็นท์ซื้อ” จะเป็นการกระทำโดยจำเลยที่ 1 จะมีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อรถเก่าจากลูกค้าหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการส่วนหนึ่งของการขายซึ่งเป็นไปตามนโยบายการขายของจำเลยที่ 1 อันถือเป็นการกระทำในหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันต่อโจทก์ในกิจการที่จำเลยที่ 2 กระทำไปด้วย แม้จะปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 อาจเป็นเรื่องการกระทำโดยผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเรื่องกิจการภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 เอง หาอาจยกเป็นข้ออ้างต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อให้ตนพ้นผิดไม่ ที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด หรือขาดอายุความเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี โดยเริ่มนับจากวันที่โจทก์ส่งมอบรถให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เพราะถือเป็นวันที่ถึงกำหนดต้องชำระราคาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 490 เห็นว่า คดีนี้มิใช่เรื่องละเมิด จึงไม่อาจนำอายุความละเมิดมาบังคับใช้ได้ ส่วนเรื่องอายุความเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบคืนนั้น เห็นว่า โจทก์ส่งมอบรถคันเก่าให้จำเลยทั้งสอง เพื่อให้ตีราคารถและนำราคาส่วนต่างมาหักค่าซื้อขายรถคันใหม่ โดยจำเลยทั้งสองรับว่าจะเป็นผู้ไปชำระเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่ค้างชำระให้แก่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อในภายหลัง สิทธิเรียกร้องให้คืนค่ารถของโจทก์ จึงเกิดขึ้นเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์เพิ่งทราบว่า จำเลยทั้งสองมิได้นำเงินจำนวน 123,888 บาท ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ไปชำระแก่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ หลังจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อมายังนางสาวสุภาพ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว คิดถึงวันฟ้องคือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share