แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1480ป.วิ.พ. มาตรา 57, 62, 88, 142, 183 วรรคสอง เดิม (183 ตรี ใหม่)
ในคดีที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา เมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำร้องครั้งแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนก่อน ผู้ร้องสอดสามารถปฏิบัติได้ แต่ก็ไม่ปฏิบัติ และในการยื่นคำร้องสอดครั้งที่สองก่อนที่จะสืบพยานโจทก์นัดแรก ผู้ร้องสอดก็ไม่เสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องอีก แม้ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องครั้งที่สามเมื่อสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 ปาก เหลือพยานโจทก์ที่จะสืบต่อไปอีก 2 ปาก อันเป็นเวลาที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่พฤติการณ์ของผู้ร้องสอดดังกล่าวก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้ หาจำต้องอนุญาตทุกกรณีไม่ และที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าทนายคนเดิมไม่เคยแจ้งให้ผู้ร้องสอดทราบว่าต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างใด ผู้ร้องสอดอาศัยทนายความดำเนินคดีให้ ทนายความดำเนินคดีบกพร่องไปในทางที่ไม่ชอบนั้นผู้ร้องสอดก็ไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวได้ เพราะทนายความเป็นตัวแทนของผู้ร้องสอดเอง ผู้ร้องสอดต้องรับผิดที่ตัวแทนได้กระทำการแทนไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งการสืบพยานโจทก์ในวันดังกล่าว 2 ปาก ทนายจำเลยก็มาซักค้านพยานโจทก์ด้วยโดยมิได้คัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่นำสืบและคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดนัดพิจารณาแต่อย่างใด จึงมีผลว่าจำเลยยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผ่านมาแล้ว จำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นกำหนดหน้าที่นำสืบและกำหนดให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อนไม่ชอบในวันหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว การที่จำเลยคัดค้านดังกล่าวก็เพื่อจำเลยจะมีโอกาสนำพยานมาสืบใหม่นั่นเอง ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าการกำหนดหน้าที่นำสืบและหน้าที่การนำพยานเข้าสืบไม่ถูกต้องอย่างใด กรณีไม่มีเหตุที่จะกำหนดหน้าที่นำสืบและการนำพยานเข้าสืบใหม่
จำเลยโดยทนายจำเลยทราบวันนัดชี้สองสถานแล้วไม่มาศาลศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อน แล้วนัดสืบพยานจำเลยแม้จะจำเลยไม่มาในวันนัดชี้สองสถานก็ถือว่าจำเลยทราบกระบวนพิจารณาของศาลในวันนั้นแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคสอง (เดิม) เมื่อศาลกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 เวลา 9 นาฬิกา จึงต้องถือว่าจำเลยทราบวันเวลานัดสืบพยานจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยไม่มาศาลในวันนัดโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน จำเลยจึงขาดนัดพิจารณา ข้อที่จำเลยอ้างว่าทนายจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต จะนำมาเป็นข้ออ้างว่าจำเลยไม่จงใจขาดนัดหาได้ไม่ เพราะทนายจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยเอง และศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 205 วรรคสาม (3)
สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาททำที่บ้านจำเลย การต่อรองราคาทำต่อหน้าพันตรี ถ.สามีจำเลย เหตุที่ไม่ได้ให้สามีจำเลยให้ความยินยอมในการซื้อขายเนื่องจากจำเลยบอกว่าจำเลยและสามีไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ประกอบกับสำเนา น.ส.3 ก็มีชื่อจำเลยคือนางนิตยา สงวนจิตร เพียงผู้เดียว ทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ก็ยังระบุชื่อ น.ส.นิตยา สงวนจิตร พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุผลให้โจทก์เชื่อว่า จำเลยมิได้สมรสกับสามีจึงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกับจำเลย สัญญาดังกล่าวจึงผูกพันกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1480 และแม้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้โอนที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อขายโดยโจทก์ไม่ได้ขอชำระราคาที่ดินตอบแทนด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องไม่ชอบ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ชำระราคาที่ระบุไว้ในสัญญาได้ เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
การพิจารณาโดยขาดนัดอย่างเช่นคดีนี้เป็นการพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว ไม่มีการนำสืบพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อน กรณีไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 88 (เดิม) โจทก์จึงมีสิทธิระบุพยานเพิ่มเติมได้