คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3667/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันโดยให้โจทก์ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืออีก 3,500,000 บาทแก่จำเลยและให้หักค่าธรรมเนียมค่าภาษีในการโอนกับค่าเสียหายจำนวน 500,000บาท ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์จากเงินจำนวน 3,500,000 บาท นั้น หากจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันไม่ได้ จำเลยต้องคืนเงินมัดจำ 500,000 บาท และชำระค่าเสียหาย 1,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ การบังคับคดีในคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามลำดับที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไว้ แต่ปรากฏว่าจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ธนาคารเพื่อเป็นประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อธนาคาร ซึ่งธนาคารได้ฟ้องจำเลยและนำยึดที่ดินพิพาทไว้ในคดีแพ่งอื่น โจทก์ซึ่งต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิตามคำพิพากษาในคดีนี้ จึงมีสิทธิเข้าใช้หนี้ของจำเลยแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 วรรคหนึ่งเมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยไปครบถ้วนแล้ว หนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันจึงระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744(1) ที่ดินพิพาทจึงไม่ติดจำนองและปราศจากภาระผูกพันแล้ว แม้ก่อนหน้านั้นศาลชั้นต้นจะเคยมีคำสั่งให้โอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยติดจำนองก็ตาม แต่คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นก็มีผลเป็นคำสั่งให้โอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยปลอดจำนองหรือปราศจากภาระผูกพัน อันเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลในลำดับแรกนั้นเองหาใช่เป็นการบังคับคดีในลำดับหลังอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามลำดับในการบังคับคดีแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 18001 ตำบลบางน้ำจืด (แสมดำ) อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครเนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ให้แก่โจทก์ โดยปราศจากภาระผูกพันและให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลืออีก 3,500,000 บาท แก่จำเลย ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนให้หักจากเงินจำนวน 3,500,000 บาท กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 500,000บาท ให้แก่โจทก์ โดยคิดหักจากเงินจำนวน 3,500,000 บาท หากจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันไม่ได้ จำเลยต้องคืนเงินมัดจำ500,000 บาท และชำระค่าเสียหาย 1,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,500,000บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 เมษายน2531) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งคดีถึงที่สุด และศาลชั้นต้นได้ส่งคำบังคับให้จำเลยทราบแล้ว ต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงลงวันที่ 30 มีนาคม 2532 ว่า ที่ดินพิพาทติดจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ร่วมกับที่ดินแปลงอื่นเพื่อเป็นประกันหนี้ในอนาคตของบริษัทเดชาอุตสาหกรรมและพาณิชยกิจ จำกัด ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผิดสัญญาไม่เคยอำนวยสินเชื่อใด ๆ ให้แก่บริษัทดังกล่าว จึงไม่มีมูลหนี้ต่อกันตามสัญญาจำนองนั้นแต่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ไม่ยอมจดทะเบียนไถ่ถอนการจำนองที่ดินพิพาทและคืนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยปราศจากภาระผูกพันได้ จำเลยจึงขอคืนมัดจำจำนวน 500,000 บาทและชำระค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นนัดพร้อมในวันที่ 30 พฤษภาคม 2532 โจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยยังสามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันได้ โดยโจทก์ยอมวางเงินตามจำนวนที่จำเลยเป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เพื่อไถ่ถอนการจำนองที่ดินพิพาทก่อนรับโอนศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์และจำเลยไม่อาจตกลงกันได้ จึงให้ปฏิบัติไปตามคำพิพากษาหลังจากนั้นโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีและศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการบังคับคดี จำเลยยื่นคำแถลงลงวันที่ 27 มิถุนายน2532 ว่า หากโจทก์นำเงินไปไถ่ถอนที่ดินพิพาทจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์จะต้องชำระเงินค่าที่ดินแก่จำเลยอีก 3,500,000 บาท เพราะจำเลยไม่ได้เป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพจำกัด การไถ่ถอนจำนองของโจทก์ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย แต่หากโจทก์ยินยอมรับเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาท และเบี้ยปรับ (ที่ถูกคือค่าเสียหาย) อีก 1,000,000 บาท แล้วจำเลยยินยอมชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นนัดพร้อมในวันที่ 24กรกฎาคม 2532 แต่เมื่อถึงวันนัดพร้อมนั้น ศาลชั้นต้นให้เลื่อนการนัดพร้อมไปในวันที่ 11สิงหาคม 2532 เวลา 9.00 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2532 จำเลยยื่นคำร้องว่าโจทก์อ้างว่าอาจจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยปราศจากภาระผูกพันได้ แต่ไม่ได้ดำเนินการอย่างใดโดยไม่มีกำหนดเวลา ย่อมไม่มีทางปฏิบัติตามเงื่อนไขในคำพิพากษาได้ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้โจทก์ทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยปราศจากภาระผูกพันภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดแล้วขอให้ศาลสั่งว่าโจทก์ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยปราศจากภาระผูกพันได้ ให้โจทก์รับเงินมัดจำ 500,000 บาท พร้อมเบี้ยปรับ (ที่ถูกคือค่าเสียหาย) 1,000,000 บาท จากจำเลยภายใน 30 วัน และให้โจทก์ถอนการอายัดที่ดินพิพาท หากโจทก์ไม่ถอนการอายัดไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้ถือเอาคำสั่งศาลชั้นต้นแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ในการถอนการอายัดในวันนัดพร้อมโจทก์แถลงว่าจำเลยยังสามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้โดยในการโอนที่ดินพิพาทนั้นโจทก์จะไถ่จำนองจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด แทนจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำพิพากษายังสามารถที่จะปฏิบัติโดยโอนที่ดินพิพาทได้ให้ยกคำร้องของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยถึงแก่ความตาย นางลลนา สุพรรณธะริดา ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ประสงค์จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะ ทั้งไม่มีทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะหรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะและไม่มีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์

ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2535 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ได้ติดต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด เพื่อขอไถ่ถอนจำนองแทนจำเลยตามจำนวนเงินที่จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกัน (ที่ถูกน่าจะเป็นสัญญาจำนอง) ไว้ในวงเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เพิกเฉยไม่ติดต่อกับโจทก์ และได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง แล้วนำยึดที่ดินพิพาทไว้ที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรสาคร โจทก์ประสงค์จะโอนที่ดินพิพาทไปเป็นของโจทก์โดยติดจำนอง แล้วโจทก์จะไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองแทนจำเลยเองในภายหลัง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครส่งโฉนดที่ดินพิพาทมายังศาลและขอให้มีหนังสือแจ้งสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครให้ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ขอวางเงินค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในการถอนการยึดแทนจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในการถอนการยึด มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ แต่ขณะนี้จำเลยถึงแก่กรรมแล้ว จึงให้โอนไปโดยติดจำนองมอบโฉนดให้โจทก์และแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีเดิม” ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2535 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ที่ศาลได้มีหนังสือให้โจทก์ถือไปยังสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถดำเนินการให้โจทก์ได้และได้แจ้งเหตุขัดข้องมายังศาลแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีจึงจะดำเนินการถอนการยึดและดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลในคดีนี้ได้ โจทก์ได้วางเงินจำนวน 5,789,303.39 บาท ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครให้ส่งโฉนดที่ดินของที่ดินพิพาทมาและมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครให้ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์หลังจากโอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยติดจำนองแล้ว โจทก์ขอถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า”มีหนังสืออ้างถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ส่งโฉนดที่ดินดังกล่าวเข้ามาในคดีนี้ และเมื่อส่งโฉนดมาแล้วให้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครให้โอนที่ดินเป็นชื่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลคดีนี้โดยติดจำนอง” ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทมาให้ศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นได้มีหนังสืออ้างถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลโดยติดจำนอง และให้เรียกค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าอากรต่าง ๆ ในการนั้นจากโจทก์เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้จัดส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทคืนศาลชั้นต้นด้วย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยติดจำนองตามคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2535แล้ว ได้จัดส่งโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทคืนศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นได้ส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทคืนเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม 2535 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทผู้ปกครองทรัพย์มรดกของจำเลย ผู้ร้องประสงค์เข้าเป็นผู้รับมรดกความในการบังคับคดี ผู้ร้องเพิ่งทราบว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2535 ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครโอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยติดจำนองโดยโจทก์ไม่ต้องชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้จำเลยตามคำพิพากษาอันเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะเป็นคำสั่งที่ผิดแผกแตกต่างจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้ว ทั้งโจทก์ไม่เคยมีคำขอให้ศาลหมายเรียกผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของจำเลยเข้ามารับมรดกความในการบังคับคดีและในการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวนั้น โจทก์ก็ไม่เคยมีคำขอและศาลก็ไม่เคยแจ้งให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของจำเลยทราบ เป็นเหตุให้ทายาท เจ้าหนี้ และลูกหนี้กองมรดกของจำเลยได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยติดจำนองไปโดยไม่ต้องชำระเงินตามคำพิพากษาให้จำเลย ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยติดจำนอง และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ของเจ้าพนักงานที่ดินและให้จดทะเบียนโอนกลับมาเป็นของจำเลย หรือให้โจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้จำเลย โดยให้ผู้ร้องเข้ารับสิทธิและหน้าที่ในการบังคับคดีต่อไป

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 197/2533 และยึดที่ดินพิพาทไว้ การที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์โดยติดจำนองนั้น เป็นการเข้ารับช่วงสิทธิโดยชำระหนี้ในคดีดังกล่าวพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์ในคดีดังกล่าวแทนจำเลย ถ้าโจทก์ไม่เข้ารับช่วงสิทธิชำระหนี้แทนจำเลยเช่นนั้น จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากธนาคารกรุงเทพ จำกัด นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดเงินจำนวนที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยไปมากกว่าเงินที่โจทก์ค้างชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือแก่จำเลยมาก การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์โดยติดจำนองไม่เป็นการโอนโดยแก้ไขคำพิพากษาของศาล จำเลยเคยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นแล้วได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2533 ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางลลนาสุพรรณธะริดา ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ประสงค์จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะ จำเลยถึงแก่ความตายมาเกินกว่า 1 ปี แล้วการขอเข้ารับมรดกความของผู้ร้องแทนจำเลยเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกคำร้อง

ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ศาลชั้นต้นสอบถามทนายผู้ร้อง ได้ความว่าผู้ร้องเพียงประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยติดจำนอง และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ของเจ้าพนักงานที่ดินและสั่งให้จดทะเบียนโอนกลับมาเป็นของจำเลยเท่านั้น ไม่ติดใจให้ไต่สวนเรื่องการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดการไต่สวนและวินิจฉัยว่า คำพิพากษากำหนดให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพัน เมื่อโจทก์ขอรับโอนที่ดินโดยติดจำนอง จึงเป็นการสละสิทธิในการบังคับคดีอันเป็นผลดีต่อจำเลยและไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ต้องชำระราคาให้จำเลย3,500,000 บาท นั้น ในเมื่อฝ่ายจำเลยไม่ได้โอนที่ดินให้โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันตามคำพิพากษา จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือหาได้ไม่ การที่ศาลมีคำสั่งให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์โดยติดจำนองนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่ผู้ร้องขอเข้ารับสิทธิและหน้าที่ในการบังคับคดีนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นทายาทของจำเลย ผู้ร้องก็มีสิทธิอยู่แล้ว กรณีที่เป็นคนละเรื่องกับการเข้ารับมรดกความแทนคู่ความที่มรณะในระหว่างพิจารณาคดี และมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้อง คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันโดยให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่เหลืออีก 3,500,000 บาท แก่โจทก์ (ที่ถูกคือจำเลย) ส่วนค่าธรรมเนียม ค่าภาษีในการโอนและค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาทที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ให้หักจากเงินจำนวน 3,500,000 บาท หากจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันไม่ได้ จำเลยต้องคืนเงินมัดจำ500,000 บาท และค่าเสียหาย 1,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาทแก่โจทก์ การบังคับคดีจึงต้องเป็นไปตามลำดับที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไว้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันตามคำพิพากษาลำดับแรกได้ โจทก์ชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาลำดับหลัง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยติดจำนองเป็นการดำเนินการบังคับคดีผิดไปจากคำพิพากษา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและพิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 18001 ตำบลบางน้ำจืด (แสมดำ) อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยติดจำนอง และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยติดจำนองของเจ้าพนักงานที่ดิน และให้โอนกลับมาเป็นชื่อของจำเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์โดยติดจำนองเป็นคำสั่งที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ในปัญหานี้ปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพัน โดยให้โจทก์ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืออีก 3,500,000 บาท แก่จำเลย และให้หักค่าธรรมเนียม ค่าภาษีในการโอนกับค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์จากเงินจำนวน 3,500,000 บาท นั้น หากจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันไม่ได้ จำเลยต้องคืนเงินมัดจำ 500,000 บาทและชำระค่าเสียหาย 1,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ การบังคับคดีในคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามลำดับที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไว้โดยจำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพัน และให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่เหลืออีก 3,500,000 บาท ให้แก่จำเลย โดยหักค่าธรรมเนียม ค่าภาษี ในการโอนกับค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ออกจากเงินจำนวน3,500,000 บาท ที่โจทก์ชำระค่าที่ดินที่เหลือให้จำเลยก่อนเป็นลำดับแรก ต่อเมื่อไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีโดยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันได้แล้ว จึงให้บังคับคดีโดยจำเลยต้องคืนเงินมัดจำ 500,000 บาท และชำระค่าเสียหาย 1,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเป็นลำดับต่อไปที่จำเลยอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยปราศจากภาระผูกพันให้แก่โจทก์ได้ เพราะธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้รับจำนองที่ดินพิพาทบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทนั้น ได้ความจากสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารท้ายคำแถลงลงวันที่ 22 สิงหาคม 2533 ของนางลลนาสุพรรณธะริดา ภริยาจำเลย (เอกสารลำดับที่ 149 แผ่นที่ 5) ว่า จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เพื่อเป็นประกันหนี้ที่บริษัทเดชาอุตสาหกรรมและพาณิชยกิจ จำกัด และ/หรือจำเลยเป็นหนี้ธนาคารดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท โดยตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี โดยได้ความต่อไปจากเอกสารลำดับที่ 149 แผ่นที่ 2 ท้ายคำแถลงดังกล่าวของนางลลนาซึ่งเป็นสำเนาหนังสือที่ ปนน.ปน.3569/2533 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2533 ของธนาคารกรุงเทพ จำกัดถึงนางลลนาว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตกลงให้นาลลนาในฐานะทายาทโดยธรรมของจำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามที่นางลลนาขอไถ่ถอนภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น จึงเห็นได้ว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาในลำดับแรกโดยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันนั้นสามารถกระทำได้ แต่ทายาทผู้รับมรดกของจำเลยก็ไม่ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพจำกัด ได้ฟ้องจำเลยและนำยึดที่ดินพิพาทไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 169/2533เพื่อดำเนินการบังคับคดีในคดีดังกล่าว โจทก์ซึ่งต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิตามคำพิพากษาในคดีนี้เพราะการที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด นำบังคับยึดที่ดินพิพาทของจำเลยเช่นนั้นจึงมีสิทธิเข้าใช้หนี้ของจำเลยแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230วรรคหนึ่ง และที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ลงวันที่ 8 เมษายน 2535 ขอให้โอนที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์โดยติดจำนองแล้วโจทก์จะไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองแทนจำเลยเองในภายหลัง โดยโจทก์ขอวางเงินค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในการถอนการยึดที่ดินพิพาทแทนจำเลย แล้วต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 23เมษายน 2535 ต่อศาลชั้นต้นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถดำเนินการให้โจทก์ได้โดยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีจึงจะดำเนินการถอนการยึดที่ดินพิพาทและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลในคดีนี้ได้ และโจทก์ได้วางเงินจำนวน 5,789,303.39 บาทต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏตามสำเนารายงานเจ้าหน้าที่และสำเนาใบเสร็จรับเงินแนบท้ายคำแถลง ขอให้ศาลมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครให้ส่งโฉนดที่ดินของที่ดินพิพาทมาและมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครให้โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ และหลังจากโอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยติดจำนองแล้ว โจทก์จะไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์โดยติดจำนองนั้น ก็ปรากฏจากสำเนารายงานเจ้าหน้าที่แนบท้ายคำร้องของโจทก์ดังกล่าว(เอกสารลำดับที่ 178/2 แผ่นที่ 1 และที่ 2) ซึ่งเป็นรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 21 เมษายน2535 ของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครต่อหัวหน้าสำนักงานฯ ว่าในวันดังกล่าวโจทก์ได้มาพบเจ้าพนักงานบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งให้ทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถดำเนินการให้โจทก์วางเงินชำระค่าธรรมเนียมตามคำสั่งศาลและดำเนินการบังคับคดีไปตามความประสงค์ของโจทก์ได้ กล่าวคือเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถถอนการยึดที่ดินพิพาทได้เนื่องจากไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายและรายงานเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแล้ว โจทก์รับทราบพร้อมกับได้ยื่นคำแถลงขอวางเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ (โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 197/2533) ตามหมายบังคับคดีพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าโจทก์วางเงินชำระหนี้แทนจำเลยเพื่อจะดำเนินการโอนที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลในคดีนี้ไม่เป็นเหตุให้คู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 197/2533 เสียหาย และเห็นควรให้โจทก์วางเงินชำระหนี้แทนจำเลยแล้วดำเนินการตามระเบียบต่อไป และปรากฏจากสำเนาใบรับเงินแนบท้ายคำร้องของโจทก์ดังกล่าว(เอกสารลำดับที่ 178/3 แผ่นที่ 3) ซึ่งเป็นสำเนาใบรับเงินของสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครว่าได้มีการวางเงินจำนวน 5,789,303.39 บาทชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 197/2533 ในวันที่ 22 เมษายน2535 แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้ชำระหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันแทนจำเลยไปครบถ้วนแล้ว หนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันจึงระงับสิ้นแล้วซึ่งการจำนองที่ดินพิพาทนั้นก็ย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 744(1) ด้วย ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงไม่ได้ติดจำนองอีกต่อไปและปราศจากภาระผูกพันแล้ว ฉะนั้นแม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องลงวันที่ 23 เมษายน 2535 ของโจทก์ว่าให้โอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยติดจำนองก็ตาม แต่ความจริงคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นก็มีผลเป็นคำสั่งให้โอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยปลอดจำนองหรือปราศจากภาระผูกพัน อันเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลในลำดับแรกนั้นเองหาใช่เป็นการบังคับคดีในลำดับหลังอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามลำดับในการบังคับคดีแต่อย่างใดไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยติดจำนองและไม่ได้กำหนดให้โจทก์ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยเป็นการบังคับคดีผิดไปจากคำพิพากษาเป็นการไม่ชอบนั้น เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิตามคำพิพากษาในคดีนี้เพราะเหตุที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด นำบังคับยึดที่ดินพิพาทของจำเลยเพื่อดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 197/2533 มีสิทธิเข้าใช้หนี้ของจำเลยแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 วรรคหนึ่งการที่โจทก์ได้วางเงินจำนวน 5,789,303.39 บาท ชำระหนี้แทนจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 197/2533 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2535 ดังกล่าวจึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 3,500,000 บาท ให้แก่จำเลยโดยหักค่าเสียหาย 500,000 บาทที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์และค่าธรรมเนียมกับค่าภาษีในการโอนที่ดินพิพาทออกจากเงินจำนวน 3,500,000 บาท นั้น ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว โดยโจทก์ย่อมได้เข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของธนาคารกรุงเทพ จำกัด มาเรียกร้องเงินส่วนที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยเกินไปจากจำเลยต่อไปได้อีกด้วย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยติดจำนองนั้น แท้จริงแล้วคำสั่งดังกล่าวจึงมีผลเป็นคำสั่งให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันและให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 3,500,000 บาท ให้แก่จำเลยโดยหักเงินค่าเสียหาย 500,000 บาท ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์กับค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนที่ดินออกจากเงินจำนวน3,500,000 บาท นั้น อันเป็นการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลในลำดับแรกโดยถูกต้องแล้ว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

Share