คำวินิจฉัยที่ 133/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบแปดเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่อมา ศาลมีคำสั่งเรียกเอกชนที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเข้ามาในคดี โดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๑๔ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกโฉนดที่ดิน ๒๔ แปลง ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๑๔ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกโฉนดที่ดินในเขตที่สาธารณประโยชน์ (ที่ดินเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนด เพื่อให้รัฐนำมาจัดสรรให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบแปดคนเช่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสี่ให้การในทำนองเดียวกันว่า โฉนดที่ดินทั้ง ๒๔ แปลง ออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือที่หลวงหวงห้ามแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีนี้ เดิมผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบแปด ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดิน ๒๔ แปลง ให้แก่ผู้มีชื่อโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดิน จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน ส่วนอธิบดีกรมที่ดินเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบแปดซึ่งไม่ใช่เจ้าของโฉนดที่ดินยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่า ออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาททั้ง ๒๔ แปลง กรณีจึงเป็นการฟ้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองที่มีการนำที่ดินของรัฐไปออกโฉนดที่ดินให้แก่เอกชน โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบแปดมีคำขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๒๔ แปลง ที่ออกทับที่สาธารณประโยชน์ (ที่ดินในเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์) จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share