แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทที่เป็นของโจทก์ด้านทิศตะวันตกซึ่งจำเลยอ้างว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์มีเฉพาะจากหลักหมุดที่1มาถึงหลักหมุดที่4ด้านทิศตะวันออกนั้นศาลอุทธรณ์ไปรับฟังเอาจากรายงานกระบวนพิจารณาการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นลงวันที่24สิงหาคม2531ซึ่งเป็นการรับฟังที่ผิดไปจากรายงานกระบวนพิจารณาเพราะรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวมิได้มีข้อความดังที่ศาลอุทธรณ์รับฟังการรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทโจทก์ก็ฎีกาได้และศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงในประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลยและประเด็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใดอันเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องมาจากประเด็นแรกเสียใหม่โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกเพราะคู่ความได้นำสืบมาสิ้นกระแสความแล้วทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตรา243ประกอบมาตรา247 ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่มีโฉนดที่ดินมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าซึ่งออกก่อนที่บิดามารดาจำเลยจะเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทจำเลยอ้างว่าจำเลยสืบสิทธิการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทต่อมาจากบิดามารดาจำเลยจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจำเลยมีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ความแน่ชัดว่าบิดามารดาจำเลยและจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา10ปีแต่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าบิดามารดาจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยมิได้อาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดินพิพาทแม้ครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382และแม้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบิดามารดาจำเลยก็หาทำให้จำเลยมีสิทธิเหนือกว่าบิดามารดาจำเลยไม่จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อบ้านไม้ของจำเลยและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 985ตำบลศีรษะจรเข้ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการและให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามในสภาพเรียบร้อยห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไปให้จำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 985ฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ หากจำเลยไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านไม้ของจำเลยและทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองที่ดินดังกล่าวต่อจากบิดามารดามาโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันรวมกันแล้วมากกว่า 50 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ทั้งสามกับพวกจึงไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อบ้านไม้ของจำเลยและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสามตามโฉนดเลขที่ 985 ตำบลศีรษะจรเข้ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่)จังหวัดสมุทรปราการ และให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามในสภาพเรียบร้อยและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 500 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทเฉพาะที่ดินด้านทิศตะวันออกตามแนวที่ลากจากหลักหมุด 1 (ลม.1)ทางทิศเหนือลงไปยังหลักหมุด 4 (ลม.4) ทางทิศใต้ เป็นของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกไป ห้ามมิให้เข้าเกี่ยวข้อง กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 100 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์2531 จนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไป ให้คำคัดค้านของจำเลยคงใช้ได้เฉพาะส่วนที่อยู่นอกเหนือแนวเขตที่ดินที่ฟังว่าเป็นของโจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งแต่ฎีกาของโจทก์ทั้งสามที่ว่า การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับประเด็นที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามหรือของจำเลย ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงโดยแปลข้อความจากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันเผชิญสืบผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานผิดไปจากที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยนำสืบ จึงไม่ชอบ และฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลอุทธรณ์รับฟังพยานหลักฐานผิดไปจากพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบนั้นเป็นข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ และเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทที่เป็นของโจทก์ด้านทิศตะวันตกที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์มีเฉพาะจากหลักหมุดที่ 1 มาถึงหลักหมุดที่ 4 ด้านทิศตะวันออกนั้นศาลอุทธรณ์ไปรับฟังเอาจากรายงานกระบวนพิจารณาการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 สิงหาคม 2531 ที่ว่า”ที่ดินพิพาทที่จำเลยนำชี้ว่า เป็นแนวเขตที่ดินของตนทางด้านทิศตะวันออกตามแนวเส้นสีฟ้าจาก ลม.1 ถึง ลม.4 เป็นคลองกว้างประมาณ 4 เมตร คลองนี้เลย ลม.4 ไปเล็กน้อย เป็นคลองตัน”ซึ่งเป็นการรับฟังที่ผิดไปจากรายงานกระบวนพิจารณา เพราะรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวมิได้มีข้อความที่ว่า “จำเลยนำชี้ว่าที่ดินพิพาท ที่ดินส่วนที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกในแนวหลักหมุดที่ 1 และที่ 4 (ลม.1 และ ลม.4) เป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสาม” ดังที่ศาลอุทธรณ์รับฟังการรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ดังนั้น ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงในประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามหรือของจำเลยและประเด็นว่าโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด อันเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องมาจากประเด็นแรกเสียใหม่ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกเพราะคู่ความได้นำสืบมาสิ้นกระแสความแล้ว ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบมาตรา247 และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่มีโฉนดที่ดินมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าซึ่งออกก่อนที่บิดามารดาจำเลยจะเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยอ้างว่าจำเลยสืบสิทธิการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทต่อมาจากบิดามารดาจำเลยจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จำเลยมีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ความแน่ชัดว่าบิดามารดาจำเลยและจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี แต่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าบิดามารดาจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยมิได้อาศัยสิทธิของเจ้าของโดยมิได้อาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดินพิพาท แม้ครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใด ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และแม้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบิดามารดาจำเลยก็หาทำให้จำเลยมีสิทธิเหนือกว่าบิดามารดาจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสาม
ส่วนประเด็นว่า โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใดเห็นว่า โจทก์ทั้งสามได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสามแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมออกไป การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทจึงเป็นอยู่โดยละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสามย่อมทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ส่วนจำนวนค่าเสียหายนั้นปรากฎว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่เกือบ 1 ไร่เป็นที่เหมาะสำหรับปลูกบ้านอยู่อาศัยและมีบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท 2 หลังแล้ว ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 500 บาท นับว่าสมควรและเหมาะสมแล้ว จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสามเดือนละ 500 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านไม้และทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น