คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7051/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในสัญญาตกลงระงับข้อพิพาท ข้อ 1 ระบุว่า “…ผู้ให้สัญญา(จำเลย) ยินยอมให้ผู้รับสัญญา (โจทก์) ขนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดออกไปจากห้องเช่าให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2531 โดยผู้ให้สัญญาได้ให้ค่าตอบแทนในการขนย้ายให้กับผู้รับสัญญาเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ในวันที่ทำสัญญานี้ โดยมอบให้จ.เป็นผู้เก็บรักษาไว้และจะมอบให้ผู้รับสัญญาเมื่อได้ส่งมอบห้องเช่าทั้งสามห้องคืนให้ผู้ให้สัญญาแล้ว” ก็ตาม แต่ในข้อ 5 ระบุว่า “คู่สัญญาตกลงดำเนินการตามข้อตกลงนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2531 หากพ้นกำหนดนี้ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก” แสดงว่าข้อตกลงเกี่ยวกับเวลาตามข้อ 1 ไม่ใช่ข้อตกลงเด็ดขาด คงเป็นข้อตกลงในหลักการเบื้องต้นเท่านั้น แต่ข้อตกลงในข้อ 5 เป็นข้อตกลงที่เด็ดขาดว่าคู่สัญญาจะดำเนินการตามข้อตกลงนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2531หากพ้นกำหนดนี้จึงให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก ดังนั้น โจทก์ย่อมนำสืบได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญาจากข้อ 1 จนถึงข้อ 5 แล้ว ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้องและไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาตกลงระงับข้อพิพาท
โจทก์ประกอบกิจการค้าขายเฟอร์นิเจอร์ มุก ตุ๊กตาจีน และแจกันลายคราม การที่โจทก์ได้ติดต่อซื้อรถสามล้อเครื่องจำนวน 50 คัน จากบริษัทว.โดยได้วางเงินมัดจำไว้ 2,500,000 บาท ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่อยู่ในกิจการค้าขายของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติวงเงินกู้จากธนาคารทำให้โจทก์ไม่สามารถชำระเงินให้ผู้ขายรถสามล้อเครื่องจนผู้ขายริบมัดจำและทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการให้เช่ารถสามล้อเครื่องก็ตาม กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น และไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดเแก่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยผู้ให้เช่าได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 222 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายตามที่โจทก์อ้าง
แม้ตามฟ้องของโจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ถูกริบมัดจำและขาดประโยชน์ที่จะได้จากการให้เช่ารถสามล้อเครื่อง ไม่ได้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญาในความเสียหายที่ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์ที่ถูกยึดก็ตาม แต่เมื่อตามคำฟ้องโจทก์กล่าวด้วยว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองตามคำฟ้องทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินและตึกแถว กล่าวคือโจทก์ต้องสูญเสียความเชื่อถือจากธนาคารโดยไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารตามที่โจทก์ต้องการได้ ดังนี้พอถือได้ว่า โจทก์ได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพราะจำเลยทั้งสองยึดที่ดินและตึกแถวของโจทก์ ทำให้โจทก์ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งค่าเสียหายนี้ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยใช้แก่โจทก์ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 222
ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดการถอนการยึดทรัพย์ที่จำเลยนำยึดโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการถอนการยึดทรัพย์หากจำเลยไม่ยอมถอนการยึดให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นเมื่อการบังคับคดีดังกล่าวเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลในคดีเดิม ดังนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอในคดีนี้ให้บังคับจำเลยร่วมกันถอนการยึดทรัพย์ที่จำเลยนำยึดในคดีดังกล่าวได้

Share