แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การเพียงว่า ซ. รับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 แต่ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบความเสียหายของสินค้าภายใน 8 วัน นับแต่วันที่รับมอบจากจำเลยในกรณีความเสียหายของสินค้าไม่เห็นประจักษ์ สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจึงขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจึงขาดอายุความเช่นกัน แต่จำเลยอุทธรณ์ว่า ความรับผิดของจำเลยสิ้นสุดลงแล้วเนื่องจาก ซ. รับสินค้าไปโดยมิได้อิดเอื้อน ชำระค่าระวางแล้วและมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงความเสียหายของสินค้าพิพาทภายใน 8 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นปัญหาตาม ป.พ.พ. มาตรา 623 ซึ่งเป็นปัญหาความรับผิดของจำเลยสิ้นสุดลงเพราะผู้รับสินค้าไม่อิดเอื้อนหรือไม่ หรือในกรณีความเสียหายไม่เห็นประจักษ์ ผู้รับสินค้าไม่แจ้งผู้ขนส่งภายใน 8 วัน นับแต่วันส่งมอบหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความหรือไม่ตามที่ให้การไว้ ซึ่งเป็นปัญหาตามกฎหมายบทอื่น จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
บรรดาคำฟ้อง คำให้การ รวมทั้งรายการต่าง ๆ ที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาทางการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทตามกรมธรรม์ สินค้าเป็นแผ่นทองแดงบริสุทธิ์ แผ่นทองแดงเจือสังกะสีและแผ่นทองแดงเจือนิเกิลและสังกะสีรวม 78 ม้วน น้ำหนักรวม 10,473 กิโลกรัมราคาซีไอเอฟ 11,784,631 เยน ซึ่งบริษัทซีเอส นันเฟอร์รัส เซ็นเตอร์ จำกัดในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซื้อจากบริษัทเจเอ็ก เม็ททอล เทรดดิ้ง จำกัด ในประเทศญี่ปุ่นตามใบบรรจุสินค้าและใบกำกับสินค้า สินค้าได้รับการขนส่งทางทะเลมาถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2554 จากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม2554 บริษัทซีเอส นันเฟอร์รัส เซ็นเตอร์ จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัทเอ็มโอแอล โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้รับสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพ ตามใบรับสินค้าและทำพิธีการศุลกากร ส่วนการขนส่งสินค้าพิพาทไปยังโรงงานของบริษัทซีเอส นันเฟอร์รัส เซ็นเตอร์ จำกัด ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นั้น จำเลยได้รับการติดต่อจากจำเลยร่วมให้นำรถบรรทุกขนส่งสินค้าพิพาทไปที่โรงงานดังกล่าว พนักงานขับรถของจำเลยชื่อนายเรืองเดช เป็นผู้ขับรถหมายเลขทะเบียน 77-6687 กรุงเทพมหานคร บรรทุกสินค้าพิพาทไปถึงโรงงานของบริษัทซีเอส นันเฟอร์รัส เซ็นเตอร์ จำกัด เมื่อเวลา 20 นาฬิกาวันเดียวกัน ระหว่างการขนส่งมีฝนตกหนัก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ความรับผิดของจำเลยสิ้นสุดลงแล้วเนื่องจากบริษัทซีเอส นันเฟอร์รัส เซ็นเตอร์ จำกัด รับสินค้าไปโดยมิได้อิดเอื้อนชำระค่าระวางแล้วและมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงความเสียหายของสินค้าพิพาภายใน 8 วันนับแต่วันรับมอบสินค้านั้น เห็นว่า ประเด็นที่อุทธรณ์นี้ จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ได้ความตามคำให้การของจำเลยเพียงว่า บริษัทซีเอส นันเฟอร์รัส เซ็นเตอร์ จำกัด รับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 แต่ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบความเสียหายของสินค้าภายใน 8 วัน นับแต่วันที่รับมอบจากจำเลยในกรณีความเสียหายของสินค้าไม่เห็นประจักษ์สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจึงขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจึงขาดอายุความเช่นกัน แต่อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยเป็นปัญหาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 ซึ่งเป็นปัญหาความรับผิดของจำเลยสิ้นสุดลงเพราะผู้รับสินค้าไม่อิดเอื้อนหรือไม่ หรือในกรณีความเสียหายไม่เห็นประจักษ์ ผู้รับสินค้าไม่แจ้งผู้ขนส่งภายใน 8 วัน นับแต่วันส่งมอบหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความหรือไม่ตามที่ให้การไว้ ซึ่งเป็นปัญหาตามกฎหมายบทอื่นซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกหนี้มีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้ตามความรับผิด อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้ อนึ่ง ปัญหาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยโดยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 วรรคสาม ว่า นายเรืองเดชคนขับมิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและเป็นเหตุให้จำเลยอุทธรณ์ต่อมาด้วยว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในคดี จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกันตามบทกฎหมายดังกล่าว
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าพิพาทหรือไม่ เห็นว่า รายงานการสำรวจความเสียหายซึ่งจำเลยมิได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างประกอบกับใบรับของ เมื่อสินค้าพิพาทไปถึงโรงงานของบริษัทซีเอส นันเฟอร์รัส เซ็นเตอร์ จำกัด ปรากฏว่าเปียกน้ำ จึงมีการถ่ายภาพไว้ ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2554 ผู้สำรวจความเสียหายของบริษัทชินเคน (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้เข้าสำรวจสินค้าพิพาท โดยยืนยันสาเหตุของความเสียหายว่าเกิดจากการเปียกน้ำฝน ซึ่งนายเรืองเดชเบิกความเป็นพยานจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า ช่วงที่ขับรถไปส่งสินค้าพิพาทนั้นมีฝนตก แต่พยานไม่ได้จอดหลบฝน ทั้งตามรายงานการสำรวจความเสียหาย ก็มีสถิติปริมาณน้ำฝนเปรียบเทียบตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 14 สิงหาคม 2554 ในท้องที่ที่รถต้องเดินทางผ่าน ปรากฏว่าวันที่ 11 สิงหาคม 2554 เป็นวันที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดด้วย การที่นางสาวชุติกาญจน์กรรมการผู้แทนจำเลย กับนายเรืองเดชเบิกความว่านายเรืองเดชใช้ผ้าใบคลุมสินค้าพิพาทถึง 2 ชั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงตามภาพถ่ายและรายงานการสำรวจความเสียหายนั้นแล้ว เห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกัน ทั้งเป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ส่วนการบรรจุหีบห่อตามภาพถ่ายที่ปรากฏเห็นได้ชัดว่ามีการบรรจุสินค้าพิพาทในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ แล้วบรรจุในลังไม้ปิดทึบ แม้ตามรายงานการสำรวจความเสียหาย จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ถุงพลาสติกถูกเปิดออก ก็น่าจะเนื่องจากการที่บริษัทซีเอส นันเฟอร์รัส เซ็นเตอร์ จำกัด พยายามจะตรวจสอบสินค้าพิพาทหรือผู้สำรวจความเสียหายพยายามตรวจสอบความเสียหายของสินค้าพิพาท พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์ มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าพิพาทไม่ได้เสียหายเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าเสียหายคิดจากราคาร้อยละ 110 ของราคาสินค้าพิพาทเป็นการเกินไปกว่าราคาและค่าเสียหายที่แท้จริงที่บริษัทซีเอส นันเฟอร์รัส เซ็นเตอร์ จำกัด พึงได้รับจากโจทก์นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทหลายคนหลายทอดและจำเลยร่วมไม่แจ้งให้จำเลยทราบว่าสินค้าที่จะต้องขนส่งเป็นสินค้าชนิดใดเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์