คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์บรรยายไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้ จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีอย่างถูกต้อง ส่วนค่าเสียหาย ค่าแรงและค่าอะไหล่แต่ละรายการจำนวนเท่าใดล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบให้ปรากฏได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจนต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิง แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สินเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 สำหรับกรณีของจำเลยก็เช่นเดียวกันถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกับ ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยหรือ ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดคนใดคนหนึ่งได้โดยลำพังเพียงคนเดียวโดยไม่ฟ้อง ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดเป็นจำเลยด้วยก็ย่อมทำได้ ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
หลังเกิดเหตุรถยนต์สองคันชนกัน ป. พนักงานของจำเลยและ ธ. พนักงานขับรถยนต์โดยสารสาธารณะคันเกิดเหตุได้ทำหนังสือยินยอมรับผิดว่ารถยนต์ของจำเลยได้ชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยระบุความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ไว้แก่เจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อนำไปตกลงค่าเสียหายต่อไป จึงเป็นเพียงหนังสือที่ออกให้เพื่อทราบความเสียหายและเพื่อแสดงความรับผิดชอบเบื้องต้นของจำเลยกับเจ้าของรถยนต์คู่กรณีเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายที่ต้องชำระ วิธีชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก จึงมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นจากความรับผิดในมูลละเมิดแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 53,279 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,716 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 38,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 มกราคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 พ – 4584 กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัทเสถียรสเตนเลสสตีล จำกัด (มหาชน)จำเลยประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารสาธารณะ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารสาธารณะหมายเลขทะเบียน 12 – 1588 กรุงเทพมหานคร สาย 1013 และเป็นนายจ้างหรือตัวการใช้ให้นายธนู ชูเชิด ขับรถคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้าง เมื่อวันที่ 12กันยายน 2539 เวลา 17.50 นาฬิกา นายควง พลอยสูง ได้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์มาถึงสะพานข้ามคลองตรงข้ามซอยเปรม แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ได้หยุดรถต่อท้ายรถยนต์โดยสารสาธารณะหมายเลขทะเบียน12 – 1588 กรุงเทพมหานคร ที่ขับโดยนายธนู ขณะนั้นนายธนูขับรถด้วยความประมาทจอดรถส่งผู้โดยสารบริเวณเชิงสะพานอันเป็นที่ลาดชัน โดยไม่ห้ามล้อหรือดึงเบรกมือ จึงเป็นเหตุให้รถไหลถอยหลังมาชนบริเวณหน้ารถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เสียหาย แล้วบรรยายฟ้องเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าเสียหาย พร้อมคำขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแสดงไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้ดังที่อ้างในฎีกาแต่อย่างใด ซึ่งจำเลยได้ให้การต่อสู้คดีอย่างถูกต้องส่วนค่าเสียหาย ค่าแรง และค่าอะไหล่แต่ละรายการจำนวนเท่าใด ล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบให้ปรากฏได้ในชั้นพิจารณา ดังนั้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์จะฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างรับผิดในผลแห่งการละเมิดตามลำพังโดยไม่ฟ้องนายธนูลูกจ้างผู้ทำละเมิดร่วมเป็นจำเลยด้วยไม่ได้นั้นเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 บัญญัติว่า นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจนต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกนั้น จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิง แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียวก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 สำหรับกรณีของจำเลยก็เช่นเดียวกันถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายธนูลูกจ้างผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยหรือนายธนูลูกจ้างผู้ทำละเมิดคนใดคนหนึ่งได้โดยลำพังเพียงคนเดียวโดยไม่ฟ้องนายธนูลูกจ้างผู้ทำละเมิดเป็นจำเลยด้วยก็ย่อมทำได้ ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดส่วนการที่จำเลยจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากนายธนูลูกจ้างก็ย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426และที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยอาจแพ้คดีในการฟ้องไล่เบี้ยเอากับนายธนูลูกจ้างนั้น ก็เป็นการคาดเดาของจำเลยเอง หาทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีนี้เสียไปไม่

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามมีว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นการไม่ชอบหรือไม่นั้น จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นการเดินรถร่วมในสัมปทานของจำเลยมาวินิจฉัยแล้วถือว่านายธนูเป็นลูกจ้างจำเลยเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องหรือนอกประเด็น ศาลจะรับฟังมาเป็นข้อวินิจฉัยหาได้ไม่คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อที่สามว่า นายธนู ชูเชิด เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า นายธนูเป็นลูกจ้างจำเลยจึงหาใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นดังกล่าวไม่

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า มูลหนี้ละเมิดระงับสิ้นไปแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่านายธนูได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องในมูลละเมิดได้อีกต่อไปนั้นเห็นว่าหลังเกิดเหตุรถยนต์สองคันชนกัน นายประสิทธิ์พนักงานของจำเลยและนายธนูพนักงานขับรถยนต์โดยสารสาธารณะคันเกิดเหตุได้ทำหนังสือยินยอมรับผิดว่ารถยนต์ของจำเลยได้ชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยระบุความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ไว้แก่เจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อนำไปตกลงค่าเสียหายต่อไป จึงเป็นเพียงหนังสือที่ออกให้เพื่อทราบความเสียหายและเพื่อแสดงความรับผิดชอบเบื้องต้นของจำเลยกับเจ้าของรถยนต์คู่กรณีเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายที่ต้องชำระ วิธีชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก จึงมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นจากความรับผิดในมูลละเมิดแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share