แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การประเมินความเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติควรจะต้องกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนแรกก่อนการประเมินต้องเก็บข้อมูลและประเมินความเสียหายเบื้องต้น และขั้นตอนการประเมิน คือกระบวนการประเมินเพื่อกำหนดจำนวนมูลค่าความเสียหาย ซึ่งต้องใช้เครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ตามทางนำสืบของโจทก์คงมีแต่คำเบิกความของนาย ก. ลอย ๆ เท่านั้นว่า นาย ก. เป็นผู้เข้าไปตรวจสอบความเสียหายของที่ดินที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏสภาพที่ดินใกล้เคียงว่ามีความสมบูรณ์เพียงใดและไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นรายละเอียดของการตรวจสอบว่ามีการเก็บข้อมูลและการประเมินความเสียหายในเบื้องต้นอย่างไร ในเรื่องนี้แม้นาย ก. เบิกความว่า รูปแบบการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ใช้มาตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันและใช้เหมือนกันทั่วประเทศก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมหลังจากการทำลายไม้จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งไม่ได้ความว่ามีการทดลองใช้แบบจำลองดังกล่าวเพื่อทดสอบความแม่นยำว่าอยู่ในระดับใดก่อนใช้ ในความเป็นจริงความเปลี่ยนแปลงทางทรัพยากรธรรมชาติส่วนต่างๆ ย่อมมีปัจจัยหลายอย่างอันเป็นตัวแปรที่กระทบต่อผลการประเมินได้ ผลการประเมินที่ออกมาถูกต้องตรงกับความจริงหรือไม่เพียงใดจึงไม่อาจยืนยันได้แน่นอน แม้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายไม้ดังกล่าวอาจมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการบ้าง แต่ก็เห็นได้ว่ารูปแบบการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าไม้ที่โจทก์นำมาใช้เป็นเครื่องมือและวิธีการคำนวณแบบหยาบ ๆ จะใช้เป็นสูตรสำเร็จในการคำนวณค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าไม้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แก่ผู้กระทำผิดทุกรายซึ่งเหตุเกิดต่างพื้นที่กันย่อมไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,065,687.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 832,888 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 230,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 832,888 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้เป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ด้วยการถอนหญ้าและกำจัดวัชพืชเพื่อทำไร่ขิงในป่าภูลมโล ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวาอันเป็นการทำลายป่าและทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นการก่นสร้างแผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ที่ดินหิน กรวดหรือทราย ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยและคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่3402/2552 ของศาลชั้นต้น โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยทำให้รัฐได้รับความเสียหายและจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า การประเมินความเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติควรจะต้องกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนกล่าวคือ ขั้นตอนแรกก่อนการประเมินคือการเก็บข้อมูลและประเมินความเสียหายในเบื้องต้น และขั้นตอนการประเมิน คือกระบวนการในการประเมินเพื่อกำหนดจำนวนมูลค่าความเสียหาย ซึ่งต้องใช้เครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ตามทางนำสืบของโจทก์คงมีแต่คำเบิกความของนายกิติพัทธ์ลอยๆ เท่านั้นว่า นายกิติพัทธ์เป็นผู้เข้าไปตรวจสอบความเสียหายของที่ดินที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏสภาพที่ดินใกล้เคียงว่ามีความสมบูรณ์เพียงใดและไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นรายละเอียดของการตรวจสอบว่ามีการเก็บข้อมูลและการประเมินความเสียหายในเบื้องต้นอย่างไร ในเรื่องนี้แม้นายกิติพัทธ์เบิกความว่ารูปแบบการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ใช้มาตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันและใช้เหมือนกันทั่วประเทศก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายไม้ตามที่ปรากฏในสำเนาบันทึกข้อความ จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งไม่ได้ความว่ามีการทดลองใช้แบบจำลองดังกล่าวเพื่อทดสอบความแม่นยำว่าอยู่ในระดับใดก่อนใช้ในความเป็นจริงความเปลี่ยนแปลงทางทรัพยากรธรรมชาติส่วนต่างๆ ย่อมมีปัจจัยหลายอย่างอันเป็นตัวแปรที่กระทบต่อผลการประเมินได้ ผลการประเมินที่ออกมาถูกต้องตรงกับความจริงหรือไม่เพียงใดจึงไม่อาจยืนยันได้แน่นอน แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายไม้ดังกล่าวอาจมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการบ้าง แต่ก็เห็นได้ว่ารูปแบบการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าไม้ที่โจทก์นำมาใช้เป็นเครื่องมือและวิธีการคำนวณค่าเสียหายที่โจทก์นำมาใช้เป็นแบบหยาบๆ จะใช้เป็นสูตรสำเร็จในการคำนวณค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าไม้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แก่ผู้กระทำผิดทุกรายซึ่งเหตุเกิดต่างพื้นที่กันย่อมไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน อย่างไรก็ตามการกระทำของจำเลยย่อมต้องก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ เมื่อพิจารณาลักษณะการกระทำของจำเลยที่เพียงแต่ถอนหญ้าและกำจัดวัชพืชในที่ดินที่เกิดเหตุเพื่อทำไร่ขิงโดยไม่ได้ตัดฟันต้นไม้ใหญ่หรือต้นไม้ยืนต้น ประกอบสภาพพื้นที่ป่าข้างเคียงก่อนและหลังการบุกรุกที่ดินที่เกิดเหตุของจำเลย และการประเมินค่าเสียหายของโจทก์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์เป็นเงิน 832,888 บาท นั้น สูงเกินไป ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นแต่เนื่องจากจำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์สูงเกินไป ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ