คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4124/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อหน้าจอของเครื่องจีพีเอสของวัตถุพยานที่ใช้โปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์ กับหน้าจอของวัตถุพยานที่ใช้โปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 หรือเรียกว่าส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้ (User Interface) เป็นส่วนที่ทำให้ผู้ใช้สามารถส่งคำสั่งให้เครื่องทำงานตามที่ตนต้องการ และหลังประมวลผลตามคำสั่งของผู้ใช้แล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์จะแสดงผลลัพธ์จากการประมวลผลการทำงานตามที่ผู้ใช้ได้สั่งการปรากฏว่ามีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน โดยทั้งสองโปรแกรมต่างมีสัญลักษณ์ให้ส่งคำสั่งเพื่อให้เครื่องทำงานต่างๆ ซึ่งผู้สั่งหรือผู้ใช้จะใช้วิธีการสัมผัสที่หน้าจอเป็นการส่งคำสั่ง เพื่อให้เครื่องทำการประมวลผลแล้วแสดงผลที่ได้ที่หน้าจอของเครื่อง อันเป็นส่วนที่จัดว่าเป็นแนวความคิดว่าผู้ใช้เครื่องจะสื่อสารกับเครื่องอย่างไร และเครื่องจะตอบสนองต่อคำสั่งอย่างไร จึงถือไม่ได้ว่าส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้นี้ เป็นสิ่งที่โจทก์สามารถผูกขาดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งไม่ใช่สิ่งที่โจทก์จะได้รับความคุ้มครองในฐานะเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ การที่จะรับฟังว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์หรือไม่จะต้องปรากฏว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ได้ทำซ้ำหรือลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ถูกเขียนขึ้นโดยมีการทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์หรือไม่อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนหรือเปรียบเทียบให้เห็นว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกันอย่างใดและในส่วนใดบ้างที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ ทั้งรายละเอียดของงานล้วนแล้วแต่เป็นแนวความคิดในการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามที่ผู้ว่าจ้างประสงค์ ซึ่งถึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกันแต่ก็เป็นความคล้ายคลึงในส่วนของแนวความคิด จึงหาใช่ข้อยืนยันหรือพิสูจน์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์เสมอไป ประกอบกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยใช้รหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดที่แตกต่างกันยังสามารถสั่งให้แสดงผลที่หน้าจอประมวลผลหรือที่เรียกว่าส่วนประสานกับผู้ใช้ออกมาเหมือนกันได้ และการดูชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจดจำไปเพื่อเขียนชุดคำสั่งดังกล่าวขึ้นมาใหม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่หากดูชุดคำสั่งแล้วได้แนวคิดเพื่อไปเขียนชุดคำสั่งของตนเองเป็นโปแกรมขึ้นมาใหม่ย่อมเป็นไปได้มากกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหมดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 27, 30, 31, 61, 70, 73, 74, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ให้จำเลยทั้งหกส่งมอบเครื่องพ็อกเกตพีซี ปาล์ม จีพีเอส คอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งหกตกเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งหกจ่ายค่าปรับฐานและละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่โจทก์ ริบป้ายโฆษณาที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) (2), 69 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 100,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้อุทธรณ์โต้เถียงกันรับฟังได้ในชั้นนี้ว่า โจทก์รับราชการสังกัดกรมที่ดินตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งวิศวกรรังวัดชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานรังวัดของสำนักงานที่ดิน งานวางโครงหมุดหลักฐานแผนที่ และให้คำแนะนำเรื่องงานรังวัดและทำแผนที่ โจทก์มีความสนใจด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และได้ปฏิบัติราชการมีความรู้เกี่ยวกับการรังวัดที่ดิน จึงได้นำความรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสร้างโปรมแกรมรังวัดกับเครื่องปาล์มโดยใช้เวลาหลังเลิกงาน โจทก์เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 โดยโจทก์เริ่มจากการพัฒนาโปรแกรมอดิพจน์ วี 8.18 ซึ่งเขียนด้วยภาษา Visual Basic ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Window CE ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งเครื่องพ็อกเกตพีซี จีพีเอส และปาล์ม ตามสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ต่อมาได้พัฒนามาเป็นโปรแกรมอดิพจน์ วี 9.13 ตามสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ และในที่สุดจึงพัฒนาเป็นโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ซึ่งมีการนำออกโฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554 ตามสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลและสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 จำเลยที่ 3 ติดต่อขอซื้อโปรแกรมอดิพจน์ วี 9.13 จากโจทก์ 2 ชุด เพื่อนำไปลงบนเครื่องจีพีเอสเพื่อจำหน่ายต่อ แต่จำเลยที่ 3 เห็นว่าใช้การได้ไม่ถนัด โจทก์จึงเสนอขายโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ให้ในราคาชุดละ 1,000 บาท และโจทก์จะงดการจำหน่ายโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้จำเลยที่ 3 จำหน่ายก่อน ต่อมาเดือนธันวาคม 2554 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้นายเกียรติชัย เขียนโปรแกรมสำหรับวัดพื้นที่ชื่อโปรแกรมเบสท์เทค 11 โดยตกลงให้ลิขสิทธิ์ในโปรแกรมเบสท์เทค 11 ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้าง โปรแกรมอดิพจน์ วี 10 มีลักษณะที่ปรากฏบนหน้าจอแสดงผลตามวัตถุพยาน ส่วนโปรแกรมเบสท์เทค 11 มีลักษณะที่ปรากฏตามหน้าจอแสดงผลตามวัตถุพยาน ซึ่งตรงกับวัตถุพยาน
ปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ของโจทก์คงมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2534 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 (1) (2) หรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า โปรแกรมอดิพจน์ วี 10 เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งโจทก์ได้บรรจุลงในเครื่องนำทางตามวัตถุพยาน เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ขึ้นรูปแผนที่โฉนด น.ส. 3 หรือ ส.ป.ก. รวมทั้งงานที่ดินอื่นๆ ได้ทั้งหมด โดยมีเมนูคำสั่งเป็นภาษาไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ติดต่อกับโจทก์เพื่อสั่งซื้อโปรแกรมอดิพจน์ วี 9.13 จำนวน 2 ชุด เพื่อนำไปลงในเครื่องนำทาง (เครื่องจีพีเอส) แล้วนำไปจำหน่ายต่อ เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ จำเลยที่ 3 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโปรแกรมดังกล่าวใช้งานไม่ถนัด โจทก์จึงได้เสนอขายโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ให้แทน ภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ยังได้ติดต่อกับโจทก์อีกหลายครั้ง จนกระทั่งปลายปี 2554 จำเลยที่ 3 เสนอขอเป็นตัวแทนจำหน่ายโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ให้แก่โจทก์เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โจทก์ไม่ตกลงตามที่จำเลยที่ 3 เสนอ แต่ยอมให้จำเลยที่ 3 นำโปรแกรมดังกล่าวออกจำหน่ายเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยโจทก์จะไม่จำหน่ายโปรแกรมดังกล่าวในช่วงเวลานั้น ซึ่งจำเลยที่ 3 สั่งซื้อโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 จากโจทก์ไปประมาณ 600 ชุด ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2555 นายณัฐวัฒน์พยานโจทก์ได้ซื้อเครื่องนำทาง (เครื่องจีพีเอส) ตามวัตถุพยาน มาจากจังหวัดร้อยเอ็ด มีโปรแกรมเบสท์เทค 11 ที่ทำหน้าที่แบบเดียวกับโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 โดยโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จ้างให้นายเกียรติชัย พยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้เขียนโปรแกรมเบสท์เทค 11 ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยมีการทำสัญญาจ้างเขียนโปรแกรม เมื่อนำหน้าจอแสดงผลของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ที่ปรากฏตามวัตถุพยาน มาเทียบกับหน้าจอแสดงผลของโปรแกรมเบสท์เทค 11 จะมีรูปแบบที่คล้ายกันดังที่โจทก์ได้ถ่ายภาพเปรียบเทียบเอาไว้ ตามภาพถ่าย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวจากที่โจทก์นำสืบมานั้นเป็นการยืนยันแต่เพียงว่า หน้าจอของเครื่องจีพีเอสของวัตถุพยานที่ใช้โปรแกรมอดิพจน์ วี 10 และโปรแกรมเบสท์เทค 11 หรือที่เรียกว่า ส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้ (User Interface) อันเป็นส่วนที่ทำให้ผู้ใช้สามารถส่งคำสั่งให้เครื่องทำงานตามที่ตนต้องการ และหลังจากประมวลผลตามคำสั่งของผู้ใช้แล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์จะแสดงผลลัพธ์จากการประมวลผลการทำงานตามที่ผู้ใช้ได้สั่งการ ระหว่างโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์และโปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกัน โดยทั้งโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์และโปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 ต่างมีสัญลักษณ์ให้ส่งคำสั่งเพื่อให้เครื่องทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปักหมุด คำนวนระยะห่างระหว่างหมุด การสร้างภาพ การย่อขยาย การหมุนทิศทาง และเครื่องคิดเลข เป็นต้น โดยผู้สั่งหรือผู้ใช้จะใช้วิธีการสัมผัสที่หน้าจอเป็นการส่งคำสั่งเพื่อให้เครื่องทำการประมวลผลแล้วแสดงผลที่ได้ที่หน้าจอของเครื่อง อันเป็นส่วนที่จัดว่าเป็นแนวความคิดว่าผู้ใช้เครื่องจะสื่อสารกับเครื่องอย่างไร และเครื่องจะตอบสนองต่อคำสั่งอย่างไร จึงไม่อาจถือได้ว่าส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้ (User Interface) นั้น เป็นสิ่งที่โจทก์สามารถผูกขาดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งไม่ใช่สิ่งที่โจทก์จะได้รับความคุ้มครองในฐานะเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การที่จะรับฟังว่าโปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมอดิพจน์ วี 10 จะต้องปรากฏว่าโปรแกรมเบสท์เทค 11 ได้ทำซ้ำหรือลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด (Source Code) ของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าโปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 ถูกเขียนขึ้นโดยมีการทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด (Source Code) ของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 หรือไม่อย่างไร ที่โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 3 เห็นรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด (Source Code) ของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ในช่วงที่ติดต่อกับโจทก์ เพราะโจทก์จะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งโปรแกรมและสาธิตการทำงานของโปรแกรม จำเลยที่ 3 จึงรู้ว่ารหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 เขียนด้วยภาษาอะไรและมีชุดคำสั่งอย่างไรบ้าง จำเลยที่ 3 สามารถนำโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ไปเป็นต้นแบบในการทำซ้ำและดัดแปลงได้ และก่อนจะมีโปรแกรมเบสท์เทค 11 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่เคยสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในทำนองเดียวกันมาก่อนนั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นๆ มาสนับสนุนประกอบให้เห็นตามคำเบิกความของโจทก์ เป็นต้นว่า การนำรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 กับรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดของโปรแกรมเบสท์เทค 11 มาแสดงเปรียบเทียบให้เห็นว่า มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกันอย่างใด และในส่วนใดบ้างที่โปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 ทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์ ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ว่าจ้างให้นายเกียรติชัยเขียนโปรแกรมเบสท์เทค 11 และอ้างส่งสัญญาจ้างเขียนโปรแกรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายเกียรติชัยตามสำเนาสัญญาจ้าง เพื่อแสดงว่าตามสัญญาจ้างดังกล่าวมีการกำหนดให้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้เหมือนกับโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์ อันเป็นการสนับสนุนว่าโปรแกรมที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่าจ้างให้นายเกียรติชัยเขียนนั้น ทำซ้ำหรือดัดแปลงโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของงานที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้นายเกียรติชัยเขียนดังได้ระบุเอาไว้ในสัญญาจ้างข้อ 1 ซึ่งได้ระบุให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนต้องประกอบด้วย 1. การรับหรือนำเข้าค่าพิกัดดาวเทียมหรือจีพีเอสจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น เครื่อง PND, GPS Navigator, Mobile Phone อุปกรณ์ที่ทำงานด้วยระบบ Windows CE, Android หรือเครื่อง PDA ต่างๆ มาเพื่อคำนวณพื้นที่หรือวัดคำนวณระยะทาง 2. นำเข้าค่าพิกัดเพื่อคำนวณพื้นที่ (ไร่ งาน ตารางวา) และระยะทาง 3. คำสั่งการใช้งานเป็นภาษาไทย เช่น เมนูและแป้นพิมพ์ภาษาไทย 4. สามารถป้อนอัตราค่าจ้าง (บาท/ไร่) ในแต่ละครั้งของการวัดพื้นที่เพื่อคำนวณรายได้ 5. แสดงผลการคำนวณเป็นพื้นที่และรายได้ พร้อมแสดงรูปพื้นที่โดยให้ทิศเหนืออยู่ด้านบน 6. ย่อขยายภาพ เลื่อนซ้ายขวา ขึ้นลงได้ 7. คำนวณระยะระหว่างหมุด คำนวณระยะรอบแปลงได้ (เมตร) 8. บันทึกงานที่ทำในแต่ละครั้ง โดยอยู่ในรูปแบบชื่อไฟล์ดังนี้ งาน (วันเดือนปี) เวลา… หรือสามารถตั้งชื่อไฟล์งานได้เอง 9. เลือกเปิดดูไฟล์งานเก่าที่ต้องการได้ 10. บันทึกงานเป็นรูปภาพได้ พร้อมพิมพ์ออกเครื่องพิมพ์ได้ 11. แสดงผลสรุปรายงานของงานที่ทำมาทั้งหมด โดยสามารถเลือกดูสรุปเป็นช่วงเวลาได้ เช่น ดูสรุปทั้งเดือนหรือทั้งปี โดยแสดงผลเป็นจำนวนงานทั้งหมด… แปลง, พื้นที่ทั้งหมด… ไร่… งาน… ตารางวา รายได้ทั้งหมด… บาท 12. สามารถเช็คค่าพิกัดของแต่ละหมุดจากการเปิดไฟล์งานเก่าและงานปัจจุบันได้ 13. มีสีหรือสัญลักษณ์บอกระดับความสามารถของการรับสัญญาณดาวเทียม (ขึ้นอยู่กับจำนวนดาวเทียม) เพื่อให้ผู้ใช้รู้ระดับความละเอียดของการจับสัญญาณก่อนการปักหมุด 14. หากกดปักหมุดผิดจุด สามารถลบหมุดที่ปักเพื่อปักหมุดใหม่ได้ 15. เครื่องคิดเลข บวก/ลบ พื้นที่ (ไร่ งาน ตารางวา) 16. เครื่องแปลงหน่วย (ไร่ ตารางวา ตารางเมตร) 17. ป้องกันไฟล์งานถูกลบออกจากระบบโดยการป้อนรหัสผ่าน 18. แสดงค่าแบตเตอรี่บนหน้าจอ 19. หลังจากลงโปรแกรมที่เครื่องมือแล้ว ผู้ใช้งานต้องป้อนรหัสผ่าน (ที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างเท่านั้น) ก่อนเริ่มการใช้งานครั้งแรกของทุกๆ เครื่อง จะเห็นได้ว่ารายละเอียดของงานตามสัญญาจ้างดังกล่าวนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นแนวความคิดในการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้ว่าจ้างประสงค์ แม้จะคล้ายคลึงกับความสามารถของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์ แต่ก็เป็นความคล้ายคลึงในส่วนของแนวความคิด แต่หาใช่ข้อยืนยันหรือพิสูจน์ได้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้ดังรายละเอียดที่ระบุเอาไว้ในสัญญาจ้างตามสำเนาสัญญาจ้างจะต้องลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด (Source Code) ของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 มาเสมอไป เพราะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ทำงานได้ตามที่สัญญาระบุเอาไว้อาจสามารถเขียนขึ้นโดยใช้รหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด (Source Code) แตกต่างไปจากรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด (Source Code) ของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นตามสัญญาจ้างดังกล่าวในข้อ 2 เอง ยังได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำซ้ำหรือลอกเลียนโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์ โดยได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้รับจ้างตกลงเขียนโปรแกรมหรือระบบให้ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้างด้วยการใช้ความรู้ ความสามารถของผู้รับจ้างเองโดยไม่ได้คัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเลียนแบบจากผู้ใด ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าจำเลยมีการกระทำอย่างอื่นใดหรือรู้เห็นเป็นใจให้นายเกียรติชัยผู้รับจ้างกระทำการที่ขัดกับเจตนาที่ได้แสดงให้ปรากฏตามสัญญา ในส่วนของพยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้นก็มีจำเลยที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ไม่เคยเห็นชุดคำสั่งหรือซอร์สโค้ดของโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังมีนายเกียรติชัย ผู้รับจ้างเขียนโปรแกรมเบสท์เทค 11 มาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยืนยันว่า เป็นผู้เขียนโปรแกรมโดยใช้ชุดคำสั่งซึ่งก็คือรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด (Source Code) ตามที่ปรากฏโดยไม่เคยเห็นรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด ซึ่งเป็นรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดที่ใช้เขียนโปรแกรมของโจทก์มาก่อน และเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า การเขียนชุดคำสั่งที่ไม่เหมือนกันแต่ให้ผลลัพธ์เหมือนกันสามารถทำได้ กล่าวคือ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยใช้รหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด (Source Code) ที่แตกต่างกัน สามารถสั่งให้แสดงผลที่หน้าจอประมวลผลหรือที่เรียกว่าส่วนประสานกับผู้ใช้ออกมาเหมือนกันได้ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังมีนายภูมิ ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเป็นวิทยากรให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ เบิกความว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 และของโจทก์เขียนด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันคนละภาษา การจะเปรียบเทียบกันต้องทำการแปลงให้เป็นภาษาเดียวกันเสียก่อน แต่เท่าที่พยานดูชุดคำสั่ง เปรียบเทียบกับชุดคำสั่ง น่าจะไม่ใช่คัดลอกกันมา การที่ผู้พัฒนาโปรแกรมดูหน้าจอแสดงผลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นไม่น่าจะจำรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ด (Source Code) ของโปรแกรมดังกล่าวได้ การดึงชุดคำสั่งจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกมาต้องใช้ความสามารถในระดับสูง ชุดคำสั่ง หากจะใช้การดึงชุดคำสั่งตามที่อธิบายข้างต้น การเขียนขึ้นใหม่จะง่ายกว่า การดูชุดคำสั่งของโปรแกรมในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจดจำไปเพื่อเขียนชุดคำสั่งดังกล่าวขึ้นมาใหม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากแม้บุคคลดังกล่าวจะมีความสามารถในการเขียนชุดคำสั่งในภาษาดังกล่าว แต่หากดูชุดคำสั่งแล้วได้แนวคิดเพื่อไปเขียนชุดคำสั่งของตนเองเป็นโปรแกรมขึ้นมาใหม่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า และหากบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ไม่มีความรู้ในการเขียนชุดคำสั่งมาก่อนยิ่งเป็นไปไม่ได้ พยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่นำสืบมานั้นแสดงให้เห็นว่า โปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 นั้น ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากโปรแกรมอดิพจน์ วี 10 แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share