แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ. ล้างมลทินในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ผู้ที่ได้รับล้างมลทินคือ ผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษที่ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ คือวันที่ 13 พฤษภาคม 2500 ฉะนั้น เมื่อจำเลยต้องโทษและพ้นโทษภายหลังที่กฎหมายดังกล่าวในคดีก่อนใช้บังคับ จำเลยย่อมไม่ได้รับล้างมลทิน ศาลจึงเพิ่มโทษจำเลยได้ตามกฎหมาย
จำเลยกระทำผิดติดสิสัยเคยถูกพิพากษาให้กักกันมาครั้งหนึ่งแล้วในคดีก่อน พ้นจากการกักกันมาได้เพียง 4 เดือน ก็มากระทำผิดขึ้นอีก ศาลจะพิพากษาให้กักกันมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เกิน 10 ปีอีกก็ได้
ย่อยาว
คดีนี้ได้ความตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดโดยบังอาจรับเอาทรัพย์ต่างๆ ของนายประพันธ์ ทัพขัย ที่ถูกคนร้ายลักไป โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ จำคุกคนละ ๓ ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ ๒ กึ่งหนึ่ง ปราณีลดโทษคนละกึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ๑ ปี ๖ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๒ ๒ ปี ๓ เดือน นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากคดีแดงที่ ๑๒๒๒/๒๕๐๔ จำเลยที่ ๒ เคยถูกศาลพิพากษากักกันมาแล้วมาทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในคดีนี้อีก เป็นผู้กระทำผิดติดนิสัย เมื่อรับโทษตามคำพิพากษาที่ให้นับโทษต่อครบแล้ว ให้ส่งจำเลยที่ ๒ ไปกักกันมีกำหนด ๕ ปี
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม พ.ร.บ. ล้างมลทินในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้ที่จะได้รับล้างมลทินต้องพ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๐ เป็นอย่างช้า แต่โทษของจำเลยในคดีก่อน ซึ่งศาลจำคุกจำเลยมีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน เมื่อพ้นโทษแล้วให้กักกันอีก ๓ ปีนั้น เริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๐ ฉะนั้น เมื่อคำนวณดูแล้วอย่างไรเสีย จำเลยก็จะพ้นโทษไปตามข่าย พ.ร.บ. ที่ให้ล้างมลทินนั้นหาได้ไม่ แม้การกักกันจำเลยเมื่อพ้นโทษคดีนี้อีก ๓ ปี จะเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ แต่การพ้นโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนก็เป็นเวลาภวยหลังการให้ได้รับล้างมลทินเสียแล้วดังกล่าวมา จำเลยจึงย่อมไม่ได้รับล้างมลทิน ไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดในคดีก่อน ศาลจึงเพิ่มโทษได้ตามกฎหมาย
ส่วนการกักกันจำเลยนั้น ได้ความว่าจำเลยกระทำผิดติดนิสัยเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันกำหนด ๓ ปีมาครั้งหนึ่งแล้วในคดีก่อน พ้นจากการกักกันมาได้เพียง ๔ เดือน ก็มากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๑ ศาลอาจพิพากษาให้กักกันมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสามปี และไม่เกินสิบปีได้