แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หลักฐานเอกสารที่โจทก์ระบุอ้างว่าได้มีการทำสัญญารับขนของทางทะเลนั้นเป็นเพียงตารางการเดินเรือที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาส่งให้โจทก์ทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะส่งสินค้าไปกับเรือหรือไม่ ในใบตราส่งซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลก็ไม่มีชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง แม้จะมีชื่อบริษัทจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ระบุว่าได้ลงชื่อในช่องผู้ขนส่งไว้ในฐานะเป็นตัวแทนผู้ขนส่ง นอกจากนี้ตามสัญญารับขนของทางทะเลผู้ขนส่งจะต้องได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าระวางเรือ แต่จำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนจากโจทก์เป็นบำเหน็จตัวแทนที่เกิดจากส่วนต่างของค่าระวางเรือที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์หักด้วยค่าระวางเรือที่จำเลยที่ 1 ได้ทดรองจ่ายแทนโจทก์ไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อได้รับค่าระวางเรือไว้ในฐานะตัวแทนผู้ขนส่งก็ต้องส่งไปให้ตัวการซึ่งเป็นผู้ขนส่ง ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าตอบแทนในลักษณะเป็นตัวแทนนายหน้า จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเพียงตัวแทนในการดำเนินการขนส่งของทางทะเลให้แก่โจทก์โดยรับค่าตอบแทนเป็นค่าบำเหน็จ หาใช่เป็นผู้ขนส่งซึ่งได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าระวางเรือไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายที่เกิดจากการที่สินค้าพิพาทส่งไปไม่ถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดเวลา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 2,574,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการเป็นตัวแทนให้แก่ผู้ส่งสินค้าในการจองระวางเรือการขนส่งตามที่ผู้ส่งมอบหมาย ซึ่งเรียกกันในวงการธุรกิจประเภทนี้ว่า “เฟรต ฟอร์เวิร์ดเดอร์” (Freight Forwarder) แปลเป็นภาษาไทยว่า “ผู้รับจัดการขนส่งสินค้า” คดีนี้จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของโจทก์ในการติดต่อกับผู้ขนส่งหรือเรือเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการรับมอบ ส่งมอบหรือขนส่งสินค้าตามคำฟ้องไม่ว่าขั้นตอนใดทั้งสิ้น จำเลยที่ 1 ได้รับเงินบำเหน็จตัวแทนมิใช่ค่าระวางในการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ออกใบตราส่งอีกทั้งเรือที่ขนส่งสินค้าดังกล่าวก็มิใช่เรือของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น การที่โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์จากท่าเรือกรุงเทพไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ จำนวน 2 ครั้ง นั้น จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อว่าจ้างบริษัทนิวส์ชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้ทำการขนส่งทั้งสองเที่ยวดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายหน้ารับจองระวางเรือของบริษัทนิวส์ชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ในประเทศไทยโดยจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ลงลายมือชื่อในใบตราส่งแทนผู้ขนส่ง เมื่อได้มีการขนสินค้าลงเรือแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขนส่งอีกแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เมื่อเดินสิงหาคม 2542 โจทก์มีสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ตามใบสั่งงานการส่งสินค้าและใบกำกับสินค้าที่จะต้องจัดส่งให้แก่ลูกค้าที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ จึงได้ติดต่อไปยังจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการจัดส่งไปให้จำเลยที่ 1 ส่งตารางการเดินเรือมาให้โจทก์ทราบว่ามีเรือจะออกจากท่าเรือกรุงเทพในวันที่ 4 กันยายน 2542 และจะถึงท่าเรือปลายทางวันที่ 6 ตุลาคม 2542 ตามหนังสือแจ้งกำหนดการเดินเรือลงวันที่ 25 สิงหาคม 2542 และอีกเที่ยวหนึ่งจะออกจากท่าเรือกรุงเทพในวันที่ 21 กันยายน 2542 จะถึงท่าเรือปลายทางวันที่ 14 ตุลาคม 2542 ตามหนังสือแจ้งกำหนดการเดินเรือลงวันที่ 11 สิงหาคม 2542 โจทก์ตกลงส่งสินค้าไปกับเรือทั้งสองเที่ยวนี้ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกใบตราส่งสินค้าให้โจทก์ ก่อนรับใบตราส่งมา จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินค่าระวาง ค่าธรรมเนียมการใช้ท่าเรือ และค่าธรรมเนียมการออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ไปก่อนตามใบสำคัญจ่ายแล้วจึงไปเรียกเก็บจากโจทก์ตามใบเรียกเก็บเงิน ต่อมาปรากฏว่าสินค้าของโจทก์ส่งไปไม่ถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ โจทก์จึงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ขนส่งซึ่งร่วมกันส่งสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ของโจทก์และต้องร่วมกันชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายที่เกิดจากการที่สินค้าดังกล่าวส่งไปไม่ถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดเวลาตามคำฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายปรีชา ผดุงชัยภูมิไทย ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และนางสมคิด ตันเจริญ พนักงานบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 โดยตรงมาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้นำสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ไปส่งให้ลูกค้าโจทก์ที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์รวม 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2542 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2542 โดยจำเลยที่ 2 ได้ร่วมรับขนส่งกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ตามใบตราส่ง ฝ่ายจำเลยมีนายสมบูรณ์ พรหมสิรินิมิต กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบกิจการให้บริการขนส่ง ธุรกิจจำเลยที่ 1 คือ เป็นตัวแทนในการประสานงานและอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ผู้ส่งสินค้าที่มีความต้องการจะส่งสินค้าไปต่างประเทศกับสายเดินเรือหรือเจ้าของเรือ การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “เฟรต ฟอร์เวิร์ดเดอร์” (Freight Forwarder) ในคดีนี้นางสมคิดพนักงานบริษัทโจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดหาระวางเรือเพื่อขนส่งสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ของโจทก์จากประเทศไทยไปยังประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ จำเลยที่ 1 จึงได้ติดต่อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของสายเดินเรือที่มีระวางเรือไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางรวมทั้งประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ด้วย จำเลยที่ 2 ส่งตารางการเดินเรือมาให้จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้ส่งตารางการเดินเรือดังกล่าวไปให้โจทก์ทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะส่งสินค้าไปตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาหรือไม่ ในที่สุดโจทก์ตกลงส่งสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ไปกับเรือตามตารางการเดินเรือดังกล่าวโดยได้รับแจ้งรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อผู้รับตราส่ง รายละเอียดของสินค้ามาให้จำเลยที่ 1 ทราบ แล้วจำเลยที่ 1 แจ้งรายละเอียดดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 เพื่อนำข้อมูลนั้นไปออกใบตราส่งให้โจทก์ต่อไป ต่อมาจึงได้มีการออกใบตราส่งก่อนที่ตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าดังกล่าวจะถูกบรรทุกลงเรือ จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นตัวแทนของโจทก์ต้องออกเงินทดรองค่าระวาง ค่าธรรมเนียมการใช้ท่าเรือและค่าธรรมเนียมการออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ไปก่อน แล้วจึงรับใบตราส่งมาได้หลังจากจำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดรองดังกล่าวและได้รับใบตราส่งมา จำเลยที่ 1 ได้มอบใบตราส่งนั้นให้โจทก์พร้อมกับทำใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินทดรองที่จ่ายแทนโจทก์ไปจากโจทก์ ส่วนค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากโจทก์นั้นไม่ใช่ค่าระวาง แต่ได้รับเป็นค่าบริการที่เรียกว่าค่าบำเหน็จตัวแทนที่เกิดจากส่วนต่างของค่าระวางที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์หักด้วยค่าระวางที่จำเลยที่ 1 ได้ออกทดรองแทนโจทก์กับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งคำนวณแล้วจำเลยที่ 1 จะได้รับค่าบริการเป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท รายละเอียดในการคำนวณปรากฏตามตารางคำนวณค่าบริการ และจำเลยที่ 1 มีนายสมชาย ประกายพลอย สมุห์บัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของตนว่า จำเลยที่ 1 เสียภาษีในประเภทเป็นตัวแทนนายหน้า คือเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งหากประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเลจะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราดังกล่าว แต่จะเสียในอัตราร้อยละ 0 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1 (3) ส่วนจำเลยที่ 2 มีนายวิสิทธิ์ แสงวิทยานนท์ กรรมการและผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 2 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของตนว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนและนายหน้าในการรับจองระวางเรือและได้ยื่นเสียภาษีในธุรกิจประเภทนี้ ตามแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) คดีนี้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ขนส่งคือบริษัทนิวส์ชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด และจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากบริษัทผู้ขนส่งให้ลงลายมือชื่อในใบตราส่งแทน ตามหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนลงวันที่ 6 มิถุนายน 2543 หลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าระวางจากจำเลยที่ 1 ก็ได้โอนเงินนั้นไปให้บริษัทผู้ขนส่งโดยจำเลยที่ 2 หักค่าคอมมิชชั่นไว้ตามหลักฐานการโอนเงินสำหรับการขนส่งเที่ยวที่ 1 และที่ 2 และได้ความจากนายสมบูรณ์ พรหมสิรินิมิต เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า หลังจากสินค้าของโจทก์ได้บรรทุกลงเรือไปแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้านั้นอีก พิจารณาพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายระบุไว้ชัดแจ้งสรุปได้ว่าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2542 และวันที่ 25 สิงหาคม 2542 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ของโจทก์ไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ โดยมีจำเลยที่ 2 ร่วมเป็นผู้ขนส่ง จึงมีปัญหาต้องพิจารณาคำว่า “ดำเนินการขนส่ง” ว่ามีความหมายแค่ไหน อย่างไร ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือว่าจำเลยทั้งสองเป็น “ผู้ขนส่ง” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า “บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนทางทะเลกับผู้ส่งของ” หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจหลักฐานเอกสารตามที่โจทก์ได้ระบุอ้างว่าได้มีการทำสัญญาในวันดังกล่าวข้างต้นทั้งสองวันนั้นแล้ว ปรากฏว่าหลักฐานทางเอกสารที่ปรากฏนั้นเป็นเพียงตารางการเดินเรือในวันที่ 11 สิงหาคม 2542 และวันที่ 25 สิงหาคม 2542 ซึ่งเจือสมกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองว่าเป็นตารางการเดินเรือที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาส่งให้โจทก์ทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะส่งสินค้าไปกับเรือทั้งสองเที่ยวนี้หรือไม่ ในใบตราส่งซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลก็ไม่มีชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง แม้จะมีชื่อบริษัทจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ระบุว่าได้ลงชื่อในช่องผู้ขนส่งไว้ในฐานะเป็นตัวแทนผู้ขนส่งโดยใช้คำว่า “As Agents” สอดคล้องเจือสมกับพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 อ้างส่งศาลตามหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนลงวันที่ 6 มิถุนายน 2543 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนและได้รับมอบหมายจากบริษัทนิวส์ชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ให้มีอำนาจลงชื่อในใบตราส่งแทนบริษัทนิวส์ชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง นอกจากนี้ตามสัญญารับขนของทางทะเล ผู้ขนส่งจะต้องได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าระวางเรือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่านอกจากจำเลยที่ 1 จะไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าระวางเรือแล้ว จำเลยที่ 1 ยังต้องออกเงินทดรองจ่ายค่าระวางเรือแทนโจทก์ไปก่อนแล้วจึงไปเรียกเก็บจากโจทก์ในภายหลัง จำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนจากโจทก์เป็นค่าบำเหน็จตัวแทนที่เกิดจากส่วนต่างของค่าระวางที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์หักด้วยค่าระวางที่จำเลยที่ 1 ได้ทดรองจ่ายแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อได้รับค่าระวางเรือไว้ในฐานะตัวแทนผู้ขนส่ง ก็ต้องส่งไปให้ตัวการซึ่งเป็นผู้ขนส่งคือ บริษัทนิวส์ชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าตอบแทนในลักษณะเป็นตัวแทนนายหน้าดังรายการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ในใบเรียกเก็บเงินที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินจากโจทก์ และในแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาเป็นการเบิกความของพยานบุคคลประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงลอยๆ ขัดต่อพยานเอกสารในสำนวน ทั้งยังได้ความจากนายสมบูรณ์กับนายวิสิทธิ์พยานจำเลยทั้งสองว่า หลังจากได้นำสินค้าตามคำฟ้องบรรทุกลงเรือไปแล้วจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าดังกล่าว ตามพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่มีขั้นตอนใดที่แสดงว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในช่วงใดเลย พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์ฟ้องมาพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองที่นำสืบมาเป็นขั้นเป็นตอนสอดคล้องกันมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ รับฟังได้ว่าพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องในคดีนี้เป็นเพียงตัวแทนในการดำเนินการขนส่งของทางทะเลให้แก่โจทก์โดยรับค่าตอบแทนเป็นค่าบำเหน็จ หาใช่เป็นผู้ขนส่งตามคำฟ้องซึ่งได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าระวางเรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ขนส่งซึ่งร่วมกันขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายที่เกิดจากการที่สินค้าดังกล่าวส่งไปไม่ถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดเวลาตามคำฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน