คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9 และมาตรา 11 เป็นบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือเป็นแนวเดียวกัน มิได้หมายความว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว การจ้างเป็นอันระงับไปในตัวทันที รัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วย การจ้างจึงจะระงับ ดังนั้น แม้โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 9 เมษายน 2538 ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเนื่องจากเกษียณอายุในวันที่ 30 เมษายน 2538 แต่จำเลยก็ยังมิได้ดำเนินการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง จำเลยเพิ่งมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 การจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงระงับไปในวันที่ 30 กันยายน 2540 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนและเงินสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับตลอดจนการปรับขึ้นเงินเดือนจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 และต้องถือว่าโจทก์มีอายุการทำงานจนถึงวันดังกล่าวด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 937,497.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินต้น 904,956.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยยกเลิกคำสั่งที่ให้หักเงินต่างๆ เสีย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทน 12,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือน การเลื่อนขั้นเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการต่างๆ ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 เป็นเพียงบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น มิได้หมายความว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดขาดคุณสมบัติ หรือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว การจ้างเป็นอันระงับไปในตัวทันที รัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วย การจ้างจึงจะระงับ ดังนั้น แม้โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 9 เมษายน 2538 ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเนื่องจากเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2538 แต่จำเลยก็ยังมิได้ดำเนินการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง จำเลยเพิ่งมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 การจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงระงับไปในวันที่ 30 กันยายน 2540 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนและเงินสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับตลอดจนการปรับขึ้นเงินเดือนจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 และต้องถือว่าโจทก์มีอายุการทำงานจนถึงวันดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจนำเงินเนื่องจากการเลื่อนขึ้นเงินเดือนและเงินเพิ่มพิเศษสำหรับพนักงานสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนซึ่งโจทก์ได้รับไปในปีงบประมาณ 2539 ถึง 2540 กับเงินค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ได้รับไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 และเงินโบนัสประจำปี 2539 มาหักออกจากเงินสงเคราะห์และเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ได้ ทั้งจำเลยยังจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับพนักงานสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนประจำเดือนกันยายน 2540 และเงินเดือน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2540 ตามส่วนที่โจทก์ยังมีสิทธิอีก 18.5 วัน ให้โจทก์ด้วย และต้องถือเงินเดือนที่โจทก์ได้รับในวันที่ 30 กันยายน 2540 เป็นเงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายในการคำนวณเงินสงเคราะห์ เงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างค้างจ่าย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 30 กันยายน 2540 โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 52,900 บาท ยังไม่เต็มอัตราขั้นสูงสุดของตำแหน่งที่โจทก์ดำรงอยู่ เมื่อปรับขึ้นอีก 1 ขั้น จะเป็นเดือนละ 55,920 บาท และในการคำนวณเงินสงเคราะห์และเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานนั้น จำเลยจะต้องปรับเพิ่มจากเงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายอีก 1 ขั้นก่อน แล้วจึงจะนำมาเป็นฐานคำนวณ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับเงินเดือนที่ปรับเพิ่มจากเงินเดือนค่าจ้างสุดท้าย 1 ขั้นแล้วคูณด้วยอายุการทำงาน 18 ปี จึงเป็นเงิน 1,006,560 บาท เงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายที่ปรับเพิ่มแล้ว 180 วัน เป็นเงิน 335,520 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างสุดท้าย 18.5 วัน เป็นเงิน 32,921.67 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 8 วัน เป็นเงิน 14,106 บาท และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับพนักงานสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนประจำเดือนกันยายน 2540 อีก 4,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,392,807.67 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ในวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง แต่จำเลยไม่ชำระ ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อคิดถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 764,600 บาท จะได้ค่าดอกเบี้ย 276,175.80 บาท จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระไปหักเป็นค่าดอกเบี้ยดังกล่าวก่อน ส่วนที่เหลือจึงหักชำระเงินต้น จึงยังเหลือเงินต้นที่จำเลยค้างชำระจำนวน 904,383.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 904,373.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

Share