คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้ในขณะที่จำเลยทั้งสามกำลังร่วมกันแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนในหลอดกาแฟที่ตัดเป็นท่อน โดยบรรจุเสร็จแล้ว 3 หลอด หลอดละ 10 เม็ด ยังเหลือเมทแอมเฟตามีนในถุงพลาสติกอีก 120 เม็ด มีหลอดกาแฟที่ตัดเป็นท่อนแล้วอีก 5 หลอด และยังไม่ได้ตัดอีก 36 หลอด อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทั้งสามกำลังจะแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนที่เหลือในถุงพลาสติกลงในหลอดกาแฟที่เตรียมไว้อีกเป็นจำนวนมาก การแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการผลิตตามความหมายของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 4 การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 65, 66, 67, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 65 วรรคสอง, 66 วรรคหนึ่ง, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 2 และที่ 3 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คนละกึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 กับลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 30 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (2) ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 สถานเดียวจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 33 ปี 6 เดือน คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสามในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (1) จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 22 ปี 4 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้ว ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิต ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 25 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และลงโทษจำเลยที่ 2 กับที่ 3 จำคุกคนละ 16 ปี 8 เดือน รวมกับโทษจำคุกสำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งได้ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 37 ปี 12 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 18 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2543 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ร้อยตำรวจโทเกรียงไกร สินภิบาล และพวกจับกุมจำเลยทั้งสามได้ที่ห้องพักหมายเลข 9 ของบังกะโลเชนเฮาส์ เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 120 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกสีฟ้า 1 ใบ เมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่ในหลอดกาแฟยาวประมาณ 5 เซนติเมตร หลอดละ 10 เม็ด 3 หลอด หลอดกาแฟที่ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 5 เซนติเมตร 5 หลอด หลอดกาแฟยาวประมาณ 20 เซนติเมตร 36 หลอด ไฟแช็ก 1 อัน ใบมีดโกน 1 อัน และหลอดเหล็กทรงกรมที่ใช้สำหรับเสพเมทแอมเฟตามีน 1 อัน ในห้องพักดังกล่าว จึงยึดทรัพย์ดังกล่าวไว้เป็นของกลาง
จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกว่า ตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ไม่มีการแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ทวิ จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธถือว่าการสอบสวนไม่ชอบ จึงฟังไม่ได้ตามเอกสารดังกล่าวว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีน เห็นว่า การแจ้งสิทธิตามบทมาตราดังกล่าวนั้น กฎหมายมิได้บังคับไว้ว่าจะต้องบันทึกการแจ้งสิทธิไว้ในบันทึกการจับกุมหรือบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เจ้าพนักงานตำรวจผู้รับตัวจำเลยทั้งสามไว้ได้แจ้งสิทธิให้แก่จำเลยทั้งสามทราบหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสามมิได้ให้การถามค้านพยานโจทก์ หรือนำสืบว่าไม่มีการแจ้งสิทธิตามบทมาตราดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสาม ปัญหาว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับตัวจำเลยทั้งสามไว้ได้แจ้งสิทธิตามบทมาตราดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามหรือไม่ จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยทั้งสามฎีกาข้อหลังว่า จำเลยทั้งสามไม่มีความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีน เพราะจำเลยทั้งสามบรรจุเมทแอมเฟตามีนในหลอดกาแฟเพียง 3 หลอด เพื่อสะดวกแก่การที่จำเลยทั้งสามจะใช้เสพเอง ในข้อนี้ได้ความจากพยานโจทก์คือร้อยตำรวจโทเกรียงไกร สินภิบาล และจ่าสิบตำรวจจีระศักดิ์ อนันต์เรือง เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามว่า จ่าสิบตำรวจจีระศักดิ์แอบดูทางหน้าต่างห้องพักที่เกิดเหตุเห็นจำเลยทั้งสามกำลังช่วยกันบรรจุเมทแอมเฟตามีนลงในหลอดกาแฟที่ตัดเป็นท่อน เมื่อพยานโจทก์ทั้งสองเข้าจับกุมจำเลยทั้งสามก็พบของกลางดังกล่าวข้างต้นบริเวณเตียงนอนในห้องพักดังกล่าว ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพว่าร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีน จึงทำบันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.1 นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจตรีสุชัติ โสภิณ พนักงานสอบสวนมาเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพว่าร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีน จึงบันทึกไว้ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 พยานโจทก์ทั้งสามปากเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติงานไปตามหน้าที่ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามและไม่มีเหตุที่จะเบิกความกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสาม คำเบิกความดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า จำเลยทั้งสามเพียงแต่เสพเมทแอมเฟตามีนแต่มิได้ร่วมกันแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนในหลอดกาแฟ คงมีแต่เพียงคำเบิกความลอยๆ ของจำเลยทั้งสามที่ขัดกับวัตถุพยานที่เจ้าพนักงานตำรวจพบในห้องพักที่เกิดเหตุ และชั้นฎีกาจำเลยทั้งสามรับในฎีกาว่าจำเลยทั้งสามบรรจุเมทแอมเฟตามีนลงในหลอดกาแฟ 3 หลอด พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้ในขณะที่จำเลยทั้งสามกำลังร่วมกันแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนในหลอดกาแฟที่ตัดเป็นท่อนโดยบรรจุเสร็จแล้ว 3 หลอด หลอดละ 10 เม็ด ยังเหลือเมทแอมเฟตามีนในถุงพลาสติกอีก 120 เม็ด มีหลอดกาแฟที่ตัดเป็นท่อนแล้วอีก 5 หลอด และยังไม่ได้ตัดอีก 36 หลอด อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทั้งสามกำลังจะแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนที่เหลือในถุงพลาสติกลงในหลอดกาแฟที่เตรียมไว้อีกเป็นจำนวนมาก การแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการผลิตตามความหมายของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีน ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น แต่เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตเป็นจำนวนเดียวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้
อนึ่งในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 มาตรา 19 และมาตรา 26 ยกเลิกความในมาตรา 15, 65 และ 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และใช้ข้อความใหม่แทน โดยในความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษฐานผลิดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยทั้งสามนั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม สำหรับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่คุณบังคับแก่จำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 57, 65 วรรคหนึ่ง (เดิม) และ 91 (ที่แก้ไขใหม่) ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีน ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้ว ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิต ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 25 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 16 ปี 8 เดือน รวมกับโทษจำคุกฐานเสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งได้ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 33 ปี 12 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 16 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share