คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 872/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยซึ่งเปิดร้านรับจ้างทำทองคำรูปพรรณ โดยนำพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำมาให้ทำกระจกปิดด้านหน้าและด้านหลังตลับพระทองคำ แต่จำเลยทำเศียรพระแก้วสีเหลืองบิ่น จึงตกลงจะใช้ค่าเสียหายด้วยการเลี่ยมพระองค์อื่นให้ ซึ่งผู้เสียหายได้นำพระองค์อื่นมาให้เลี่ยมอีก 2 องค์ จำเลยเลี่ยมพระให้ผู้เสียหายเป็นค่าเสียหายไปแล้ว 1 องค์ ภายหลังจำเลยเห็นว่าค่าเสียหายสูงไปต้องการตกลงค่าเสียหายกันใหม่ด้วยการยึดหน่วงตลับพระทองคำพิพาทไว้เพื่อหักหนี้กับค่าเลี่ยมพระองค์ที่ 2 ดังนี้แสดงว่าจำเลยมีเพียงเจตนายึดหน่วงตลับพระทองคำพิพาทไว้เพื่อเจรจาต่อรองกันใหม่เกี่ยวกับค่าเสียหายที่เศียรพระแก้วสีเหลืองบิ่น หาได้มีเจตนาจะเบียดบังไว้เป็นของตนไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาตลับพระทองคำจำนวน 15,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 2 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาตลับพระทองคำจำนวน 15,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยซึ่งเปิดร้านรับจ้างทำทองคำรูปพรรณให้เลี่ยมพระแก้วสีเหลืองด้วยทองคำ 1 องค์ ในราคา 15,000 บาท ผู้เสียหายได้รับพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำไปแล้ว ต่อมาผู้เสียหายนำพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำดังกล่าวกลับมาให้จำเลยทำกระจกปิดด้านหน้าและด้านหลังตลับพระทองคำปรากฏว่าจำเลยทำเศียรพระแก้วสีเหลืองบิ่นและตกลงจะใช้ค่าเสียหายด้วยการเลี่ยมพระองค์อื่นให้ 2 องค์ ต่อมาจำเลยไม่คืนพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำดังกล่าวแก่ผู้เสียหายและเพิ่งคืนเฉพาะพระแก้วสีเหลืองแก่ผู้เสียหาย หลังแจ้งความดำเนินคดีนี้ประมาณ 1 เดือน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ผู้เสียหายชำระราคาตลับพระทองคำแก่จำเลยแล้วหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายมาเบิกความว่า ผู้เสียหายเคยนำพระมาให้จำเลยเลี่ยมหลายครั้ง โดยวางมัดจำค่าจ้างครั้งละประมาณ 2,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระเมื่อมารับพระพร้อมตลับพระทองคำซึ่งทางร้านจำเลยไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้เกี่ยวกับการว่าจ้างทำตลับพระทองคำพิพาท ผู้เสียหายได้รับพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำและชำระราคาจำนวน 15,000 บาท แก่จำเลยแล้ว ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและนายไพบูลย์ พิมพ์ชาย สามีจำเลยมาเบิกความว่า ผู้เสียหายมาขอพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำเพื่อนำไปให้เพื่อนดูและปรึกษาว่าควรปิดกระจกด้านหน้าและด้านหลังตลับพระทองคำหรือไม่ การว่าจ้างรายนี้ผู้เสียหายวางมัดจำไว้ 1,000 บาท จำเลยมอบพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำให้ผู้เสียหายไปโดยมิได้เรียกให้ผู้เสียหายชำระราคาก่อนเพราะเชื่อใจผู้เสียหาย เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นเพียงลูกค้าธรรมดาคนหนึ่งที่เคยว่าจ้างร้านจำเลยเลี่ยมพระ ไม่ปรากฏว่าสนิทสนมคุ้นเคยเป็นพิเศษแต่อย่างใด เป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบกิจการค้าเช่นจำเลยซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ที่จะยอมมอบสินค้าทองคำรูปพรรณให้ลูกค้าไปโดยไม่มีหลักประกันหรือหลักฐานใดๆ อันอาจเกิดปัญหาพิพาทและตนต้องตกเป็นฝ่ายเสียหายโดยใช่เหตุ เช่น ลูกค้ารับไปแล้วไม่ติดต่อกลับมาอีกหรืออาจอ้างว่าชำระราคาแล้วเป็นต้น ถึงแม้ทองคำรูปพรรณยังทำไม่เสร็จสมบูรณ์ตามสั่งแต่ก็ยังคงมีค่าเป็นทองคำสามารถแลกเป็นเงินได้ในราคาท้องตลาด ประกอบกับหากมีเหตุว่าผู้เสียหายยังมิได้ชำระค่าจ้างและค่าทองคำจริง จำเลยก็คงให้การถึงเหตุนั้นไว้แล้วทันทีในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แต่จำเลยปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยมิได้ให้รายละเอียดเหตุแห่งการปฏิเสธแต่อย่างใดเลย ข้ออ้างของจำเลยในชั้นพิจารณาที่ว่าผู้เสียหายยังไม่ได้ชำระราคาจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง อีกทั้งจำเลยและสามีจำเลยเบิกความตอบศาลถามว่า ถ้าผู้เสียหายรับพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำไปให้เพื่อนดู แล้วผู้เสียหายพอใจแค่นั้นไม่ต้องการทำอย่างไรต่อไป จำเลยก็ไม่ต้องทำอะไรกับตลับพระทองคำนั้นอีก แสดงว่าตลับพระทองคำขณะที่ผู้เสียหายรับไปนั้นเสร็จสมบูรณ์ตามสั่งแล้ว ไม่มีเหตุที่จะนำกลับมา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายชำระราคาตลับพระทองคำพิพาทแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานยักยอกตลับพระทองคำพิพาทหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากผู้เสียหายรับพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำที่ว่าจ้างจากจำเลยแล้ว ต่อมาผู้เสียหายนำพระแก้วสีเหลืองพร้อมตลับพระทองคำดังกล่าวกลับมาให้จำเลยทำกระจกปิดด้านหน้าและด้านหลังตลับพระทองคำ ปรากฏว่าคราวนี้จำเลยทำเศียรพระแก้วสีเหลืองหัก ผู้เสียหายและจำเลยตกลงค่าเสียหายกัน โดยจำเลยจะเลี่ยมพระองค์อื่นชดใช้ให้เป็นเงิน 17,500 บาท ซึ่งผู้เสียหายนำพระองค์อื่นมาให้จำเลยเลี่ยมอีก 2 องค์ โดยองค์ที่ 2 จำเลยตีราคาตลับพระทองคำเป็นเงิน 13,500 บาท ซึ่งผู้เสียหายชำระราคาเพียง 7,000 บาท ส่วนอีก 6,500 บาท หักเป็นค่าเสียหายองค์พระแก้วสีเหลือง ต่อมาจำเลยเห็นว่าค่าเสียหายที่ตกลงกันนั้นสูงเกินไป จำเลยจึงยึดตลับพระทองคำสำหรับใส่พระแก้วสีเหลืองไว้เพื่อหักกับค่าเลี่ยมพระองค์ที่ 2 ที่ผู้เสียหายหักจากจำเลย ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและสามีจำเลยเบิกความว่า ค่าเสียหายทำเศียรพระแก้วสีเหลืองบิ่นนอกจากซ่อมเศียรพระแก้วสีเหลืองแล้วผู้เสียหายผู้เสียหายเรียกค่าเสียหายอีก 15,000 บาท เท่ากับราคาตลับพระทองคำสำหรับใส่พระแก้วสีเหลืองจำเลยไม่ยินยอมชดใช้ให้ ที่จำเลยไม่คืนตลับพระทองคำพิพาทแก่ผู้เสียหายเนื่องจากผู้เสียหายไม่ชำระราคาตลับพระทองคำดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยไม่รับเลี่ยมพระองค์อื่นให้ผู้เสียหายอีก เห็นว่า พยานจำเลยกล่าวแต่เพียงว่าจำเลยไม่คืนตลับพระทองคำพิพาทแก่ผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายยังมิได้ชำระราคาตลับพระทองคำดังกล่าว โดยจำเลยมิได้กล่าวถึงการชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่จำเลยทำเศียรพระแก้วสีเหลืองบิ่น แล้วตกลงเลี่ยมพระองค์อื่นให้ผู้เสียหายเลย ส่วนผู้เสียหายมีบันทึกเอกสารหมาย จ.1 ที่ทำระหว่างผู้เสียหายกับสามีจำเลยมาแสดงว่าหลังจากจากผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีนี้แก่จำเลย นอกจากสามีจำเลยจะส่งมอบพระแก้วสีเหลืองคืนผู้เสียหายแล้ว ในวันเดียวกันนั้นยังส่งมอบพระหลวงปู่ดุลย์คืนผู้เสียหายด้วย จากพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อว่า มีการตกลงค่าเสียหายเป็นการเลี่ยมพระองค์อื่นให้ ซึ่งผู้เสียหายได้นำพระองค์อื่นมาให้เลี่ยมอีก 2 องค์ การที่ฝ่ายจำเลยคืนพระหลวงปู่ดุลย์เพิ่มกลับมา 1 องค์ แสดงว่าจำเลยเลี่ยมพระให้ผู้เสียหายเป็นค่าเสียหายไปแล้ว 1 องค์ คงขาดค่าเสียหายที่ผู้เสียหายจะหักจากการเลี่ยมพระหลวงปู่ดุลย์อีก 6,500 บาท ภายหลังผู้เสียหาย (ที่ถูก จำเลย) เห็นว่าค่าเสียหายสูงไปต้องการตกลงค่าเสียหายกันใหม่ด้วยการยึดหน่วงตลับพระทองคำพิพาทไว้ เพื่อหักหนี้กับค่าเลี่ยมพระองค์ที่ 2 ซึ่งมีราคาค่าเลี่ยม 13,500 บาท พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมีเพียงเจตนายึดหน่วงตลับพระทองคำพิพาทไว้เพื่อเจรจาต่อรองกันใหม่เกี่ยวกับค่าเสียหายที่เศียรพระแก้วสีเหลืองบิ่น หาได้มีเจตนาจะเบียดบังไว้เป็นของตนไม่ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าตลับพระทองคำพิพาทเป็นของผู้เสียหาย จึงให้คืนแก่ผู้เสียหาย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาตลับพระทองคำจำนวน 1 อัน ราคา 15,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share