คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขุดหินลูกรังในเขตป่าสงวนแห่งชาติบรรทุกรถยนต์ ยังไม่ได้นำออกจากป่า เป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นความผิดสำเร็จตาม พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา14,31 รถยนต์ใช้บรรทุกของป่าต้องริบตาม มาตรา35

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 3 เดือน ปรับ 500 บาท ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 มาตรา 4, 14, 31, 35 ริบของกลาง ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพียงแต่ขุดหินลูกรังยังมิได้นำออกจากป่าสงวนที่เกิดเหตุ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จดังฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ด้วยการใช้ของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันขุดหินลูกรังในเขตป่าสงวนแห่งชาติบรรทุกในรถยนต์ของกลาง ซึ่งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2517 มาตรา 4 คำว่า “ของป่า” หมายความว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าเป็นต้นว่า(4) ดิน หิน กรวด ทราย แร่และน้ำมันฉะนั้นเมื่อจำเลยร่วมกันขุดหินลูกรังจากเขตป่าสงวนขึ้นบรรทุกบนรถยนต์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตามความในมาตรา 14 เป็นความผิดสำเร็จตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 ของกฎหมายดังกล่าวนั้นแล้ว

ที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายอีกประการหนึ่งว่า รถยนต์บรรทุกของกลางไม่ได้เป็นอุปกรณ์ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่ใช่ของกลางในคดีอันควรริบนั้น ได้ความเป็นยุติว่า รถยนต์บรรทุกของกลางจำเลยได้ร่วมกันใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกหินลูกรังที่ขุดจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฉะนั้นแม้จะไม่ใช่เป็นอุปกรณ์ใช้ในการขุดหินลูกรังโดยตรงเช่นจอบหรือพลั่ว แต่ก็ได้ใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกหินลูกรังอันเป็นของป่า จึงถือได้ว่าใช้ในการกระทำผิด เป็นของกลางที่ต้องริบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507″

พิพากษายืน

Share