คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3183/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เติมโจทก์ขอให้บังคับคดีทำยึดและขายทอดตลาดที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสองจำนองกับโจทก์เพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าเงินขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ตามาคำพิพากษาจึงขอให้ยึดที่ดินโฉนดที่ 9096 และ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 1 จำนองไว้กับโจทก์เช่นกันมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้ครบถ้วน ปรากฏว่าตามสัญญาจำนองที่ดินทั้งสองโฉนดนั้นจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์รวมดอกเบี้ยด้วยเป็นเงิน 609,924.58 บาท ศาลชั้นต้นอนุญาต และเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวได้เงิน 1,290,000 บาท เมื่อหักหนี้บุริมสิทธิให้โจทก์ก่อนแล้ว ยังมีเงินเหลือที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะร้องขอเข้าเฉลี่ยในเงินที่เหลือนี้ได้ ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษา ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ส่วนที่เกินบุริมสิทธิของโจทก์ คือขอเฉลี่ยเงินที่เหลือจากการชำระหนี้แก่โจทก์ โดยขอรับเฉลี่ยในฐานะเจ้าหนี้สามัญซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาถึงที่สุดให้ผู้ร้องได้เข้าเฉลี่ยหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญ ดังนี้ ผู้ร้องจะมาอ้างขึ้นใหม่ว่าจะขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หรือเจ้าหนี้จำนองอันดับ 2 ก่อนเจ้าหนี้สามัญในภายหลังอีกหาได้ไม่ ต้องฟังว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในฐานะบุริมสิทธิ จะเฉลี่ยหนี้โดยหักหนี้บุริมสิทธิของโจทก์เงินที่เหลือเอาชำระหนี้บุริมสิทธิของผู้ร้อง และเมื่อมีเงินเหลือจากการชำระหนี้บุริมสิทธิของผู้ร้องแล้ว จึงนำไปเฉลี่ยเป็นหนี้สามัญระหว่างโจทก์กับผู้ร้องหาได้ไม่

ย่อยาว

่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระหนี้ไถ่จำนองแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาชำระหนี้จนครบถ้วน ต่อมาคู่ความทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม โจทก์ขอให้บังคับคดีโดยนำยึดที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสองจำนองกับโจทก์ไว้ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๘ เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่ ๗๓๒๘,๔๒๙๖ และ ๔๒๙๗ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าเงินขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ ขอยึดทรัพย์จำเลยที่ ๑ คือที่ดินโฉนดที่ ๙๐๙๖,๙๐๙๗ และ ๒๕๐๒๒ ถึง ๒๕๐๒๙ รวม ๑๐ แปลง ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกทำการขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ที่เหลือ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำร้องของโจทก์ วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๘ โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยและยอดที่เดินสะพัดแล้วคงเป็นยอดเงินรวม ๖๐๙,๙๒๔.๕๘ บาท โดยนำที่ดินโฉนดที่ ๙๐๙๖,๙๐๙๗ ที่ขอยึดเพิ่มเติมนั้นจำนองไว้กับโจทก์ แล้วจำเลยที่ ๑ ได้ขอนำโฉนดที่ ๙๐๙๖,๙๐๙๗ ที่จำนองไว้ไปทำการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยๆรวม ๓๕ แปลง คือโฉนดที่ ๙๐๙๖,๒๕๐๒๒ ถึง ๒๕๐๒๙ และโฉนดที่ ๙๐๙๗,๒๕๘๕๔ ถึง ๒๕๘๖๒ และ ที่ ๒๕๘๖๔ ถึง ๒๕๘๗๙ ทุกแปลงคงติดจำนวนตามเดิม จึงขอให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากเงินขายที่ดินที่โจทก์นำยึดครั้งหลังนี้ด้วย ศาลชั้นต้นอนุญาตตามขอเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนด ๓๕ แปลงดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายในราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเสนอคือจำนวน ๑,๒๙๐,๐๐๐ บาท
ครั้นวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๙ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์ จำกัด ยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๒๓/๒๕๑๙ ของศาลจังหวัดพิษณุโลก ขอรับเฉลี่ยหนี้ส่วนที่เกินบุริมสิทธิของโจทก์ ต่อมาวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องแถลงว่าขอรับเฉลี่ยเงินที่เหลือจากการชำระหนี้แก่โจทก์โดยขอรับเฉลี่ยในฐานะเจ้าหนี้สามัญ ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอเฉลี่ยเงิน ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยคำพิพากษาฉบับลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๐ ว่าที่ดินโฉนดที่ ๙๐๙๖ และ ๙๐๙๗ บุริมสิทธิของโจทก์เหนือที่ดินโฉนดที่ ๙๐๙๖ และ ๙๐๙๗ คงมีเฉพาะหนี้จำนองตามสัญญาจำนองลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๑๗ ซึ่งจำเลยที่ ๑ จำนองไว้กับโจทก์เท่านั้น แต่ที่ดินโฉนดที่ ๙๐๙๖ และ ๙๐๙๗ ซึ่งภายหลังแบ่งออกเป็น ๓๕ แปลง ขายทอดตลาดได้เงิน ๑,๒๙๐,๐๐๐ บาท มากกว่าบุริมสิทธิของโจทก์เหนือที่ดินดังกล่าว เมื่อหักหนี้บุริมสิทธิให้โจทก์ก่อนแล้วยังมีเงินเหลือที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะร้องขอเข้าเฉลี่ยในเงินที่เหลือนี้ได้ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ผู้ร้องและโจทก์ได้รับส่วนเฉลี่ยนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน ๓๕ แปลงของจำเลยที่ ๑ ที่เหลือจากชำระหนี้จำนองตามสัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๑๗ โดยให้เฉลี่ยตามส่วนหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๒๓/๒๕๑๙ ของศาลจังหวัดพิษณุโลกกับหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ที่ยังขาดอยู่หลังจากบังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ ๗๓๒๘ ของจำเลยที่ ๑ และที่ดินโฉนดที่ ๔๒๙๖,๔๒๙๗ ของจำเลยที่ ๒ แล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวถึงที่สุดโดยผู้ร้องมิได้ฎีกา
วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๒๒ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีหาการเฉลี่ยหนี้ไม่ถูกต้อง เพราะผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิที่ ๒ เมื่อหักหนี้บุริมสิทธิของโจทก์แล้วยังมีเงินเหลือชำระหนี้บุริมสิทธิของผู้ร้องได้เพียงพอ และเมื่อมีเงินเหลือจากการชำระหนี้บุริมสิทธิของผู้ร้องแล้ว จึงควรนำไปเฉลี่ยเป็นหนี้สามัญระหว่างโจทก์กับผู้ร้องต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โดยที่ผู้ร้องฎีกาประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๙ วรรคสองมาใช้ในกรณีของผู้ร้องหาได้ไม่ เพราะหนี้ของผู้ร้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาและมีบุริมสิทธิด้วย เห็นว่าผู้ร้องได้แถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ ว่าผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้จากโจทก์ที่เหลือในฐานะเจ้าหนี้สามัญ ประกอบกับผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้หลังจากเอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องจะมาอ้างขึ้นใหม่ว่าจะขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือเจ้าหนี้จำนองอันดับ ๒ ก่อนเจ้าหนี้สามัญหาได้ไม่
ผู้ร้องฎีกาประการที่สองว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๐ นั้น ผู้ร้องเข้าใจว่าผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับผ่านเฉลี่ยก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่นๆ จึงมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับดังกล่าว ฉะนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะทำบัญชีส่วนเฉลี่ยให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิ เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวมิได้ระบุให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้บุริมสิทธิแต่อย่างใด ในคำพิพากษาฉบับนั้นได้กล่าวถึงความตอนนี้ว่าที่ดิน ๓๕ แปลงขายทอดตลาดได้เงินรวม ๑,๒๙๐,๐๐๐ บาท มากกว่าบุริมสิทธิของโจทก์เหนือที่ดินดังกล่าว เมื่อหักหนี้บุริมสิทธิให้โจทก์ก่อนแล้ว ยังมีเงินเหลือที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะร้องขอเข้าเฉลี่ยในเงินที่เหลือนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด ผู้ร้อง ที่ขอเข้าเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดอย่างเจ้าหนี้สามัญโดยอ้างว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอากับหลักทรัพย์ที่จำนองไว้กับโจทก์เป็นบุริมสิทธิมีหลักประกันพิเศษ และขายทรัพย์สินของจำเลยไม่พอชำระหนี้จำนองให้แก่โจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จากคำวินิจฉัยดังกล่าวแสดงว่าศาลอุทธรณ์ถือว่าผู้ร้องได้ขอเฉลี่ยเงินอย่างเจ้าหนี้สามัญโดยชัดแจ้งและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวถึงที่สุดแล้วจึงต้องฟังว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในฐานะบุริมสิทธิ
ผู้ร้องฎีกาประการสุดท้ายว่า ที่ผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นขอรับชำระหนี้โดยการเฉลี่ยหนี้ ในฐานะเจ้าหนี้สามัญนั้น ต้องหมายความว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ที่เหลือจากการชำระหนี้จำนองของโจทก์ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่นๆ ในฐานะเจ้าหนี้จำนองอันดับ ๒ ทั้งจำนวนเงินที่ขายทอดตลาดยังพอที่จะชำระหนี้ให้ผู้ร้องในฐานะหนี้จำนองอันดับ ๒ได้ เห็นว่าเมื่อได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า ผู้ร้องไม่อยู่ในฐานะเช่นนั้นได้ เพราะผู้ร้องได้แถลงรับต่อศาลชั้นต้นว่าขอเฉลี่ยหนี้ในฐานะเจ้าหนี้สามัญ ผู้ร้องจะมาแปลความทนายให้กลายเป็นอย่างอื่นในชั้นฎีกานี้ย่อมไม่ได้
พิพากษายืน.

Share