คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9518/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจาก การกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่การกระทำความผิดของลูกจ้างก็ได้
ช.กับพวกเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ช.กล่าวหาโจทก์ว่าปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับตำแหน่งเลขานุการสหภาพแรงงาน โจทก์ไม่พอใจ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างเคยเรียกโจทก์และ ช.กับพวกไปตักเตือนให้เลิกแล้วต่อกันเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 แต่ตกลงกันไม่ได้ ทำให้พนักงานภายในโรงงานของจำเลยที่ 1 แบ่งเป็น 2 ฝ่าย เมื่อโจทก์ได้ฟ้อง ช.กับพวกต่อศาลในข้อหาหมิ่นประมาทแล้ว พนักงานในบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ก็จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์และไม่ยอมทำงาน ก่อให้เกิดความไม่สงบ รวมทั้งเป็นปัญหาและอุปสรรคใน การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 แม้จะฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ชักชวนให้พนักงานของจำเลยที่ 1 แบ่งเป็น 2 ฝ่าย หรือ จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์และไม่ทำงานอันเป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ความไม่สงบรวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งของโจทก์และ ช.กับพวก และไม่ทราบว่าจะยุติลงเมื่อใด การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์รวมทั้ง ช. กับพวกเพราะความจำเป็นอันเนื่องมาจากเหตุดังกล่าวเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ดำรงคงอยู่ต่อไป นับได้ว่ามีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน ๑๘๗,๕๐๐ บาท ค่าชดเชย จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามจงใจไม่ยอมจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ โดยปราศจากเหตุผลตามสมควร จึงต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มอัตรา ร้อยละ ๑๕ ทุกระยะเวลา ๗ วัน ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑,๖๒๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินบำเหน็จจำนวน ๘๖,๒๕๗.๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว ค่าชดเชยจำนวน ๔๙,๒๙๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย อัตราร้อยละสิบห้าต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๘ (วันเลิกจ้าง) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงกรรมการไม่ต้อง รับผิดเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๐๑ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ นั้น ต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่การกระทำความผิดของลูกจ้างก็ได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๘ นายชัยรัตน์กับพวก ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท จำเลยที่ ๑ และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมแห่งประเทศไทยกล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับตำแหน่งเลขานุการสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมแห่งประเทศไทย โจทก์ไม่พอใจ จำเลยที่ ๓ ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ เคยเรียกโจทก์และนายชัยรัตน์กับพวกไปตักเตือนให้เลิกแล้วต่อกันเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ แต่ตกลงกันไม่ได้ ทำให้พนักงานภายในโรงงานของ จำเลยที่ ๑ แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย และโจทก์ได้ฟ้องนายชัยรัตน์กับพวกต่อศาลชั้นต้นในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อโจทก์ฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว พนักงานในบริษัทจำเลยที่ ๑ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ก็จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์และไม่ยอมทำงาน เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบ รวมทั้งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ ดังนั้น แม้จะฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ชักชวนให้พนักงานของจำเลยที่ ๑ แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย หรือจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์และไม่ทำงานอันเป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ ก็ตาม แต่ความไม่สงบ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ และความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งของโจทก์และนายชัยรัตน์กับพวก ดังกล่าว แม้จำเลยที่ ๓ จะเคยเรียกโจทก์และนายชัยรัตน์กับพวกไปตักเตือนให้เลิกแล้วต่อกัน อันจะเป็นผลให้ข้อขัดข้องและอุปสรรคในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวกลับคืนสู่สภาวะปกติ แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากโจทก์และนายชัยรัตน์กับพวกไม่ยอมเชื่อฟังและโจทก์ยังยื่นฟ้องนายชัยรัตน์กับพวกต่อศาลชั้นต้นในข้อหาหมิ่นประมาทย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ทำให้ความบาดหมางของทั้งสองฝ่ายอันเป็นต้นเหตุให้ข้อขัดข้องและอุปสรรคในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ เพิ่มมากขึ้น และไม่ทราบว่าจะยุติลงเมื่อใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์รวมทั้งนายชัยรัตน์กับพวกเพราะความจำเป็นอันเนื่องมาจากเหตุดังกล่าว เพื่อให้กิจการของจำเลยที่ ๑ ดำรงอยู่ต่อไป จึงนับได้ว่ามีเหตุอันสมควร ที่จำเลยที่ ๑ จะเลิกจ้างโจทก์ มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ในส่วนนี้ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง .

Share