คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1498/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเงินค่าซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อ และจำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ว่าเงินค่าซ่อมขาดอายุความแล้ว คดีจึงมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือไม่ และฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามคำฟ้องอุทธรณ์โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาในประเด็นนี้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3) ประกอบมาตรา 247
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามสัญญาข้อ 5 (1) ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปซ่อมที่ศูนย์นิสสันแล้วไม่ชำระค่าซ่อม เป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้ศูนย์ดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ไปจึงจะยึดรถยนต์คืนมาได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้ และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 376,663.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 133,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 124,643.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อขาดอายุความนั้น ปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงมิได้วินิจฉัยประเด็นว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเงินค่าซ่อมขาดอายุความแล้วหรือไม่ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดในเงินค่าซ่อม และจำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ว่าเงินค่าซ่อมขาดอายุความแล้ว คดีจึงมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือไม่ และฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามคำฟ้องอุทธรณ์โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาในประเด็นข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3) ประกอบมาตรา 247
ตามสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อทำกับจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อนั้น ข้อ 5 (1) ระบุความว่า หากสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงผู้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อในสภาพปกติและซ่อมแซมดีแล้วด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเองแก่เจ้าของโดยพลัน ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามสัญญาต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปซ่อมที่ศูนย์นิสสันแล้วไม่ชำระค่าซ่อม เป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่ศูนย์ดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ไปจึงจะยึดรถยนต์คืนมาได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้ และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share