คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5576/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนฯ ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อผลกำไรส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน มหาวิทยาลัยโจทก์มีกำไรจากการดำเนินกิจการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2545 ที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการ โจทก์มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 300 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าเป็นกิจการเพื่อแสวงหาผลกำไรส่วนบุคคลมากกว่าจะเป็นกิจการสาธารณะ ทั้งโจทก์ยังนำเอาอาคารเรียนไปให้บุคคลภายนอกเช่าทำเป็นศูนย์การค้า มีร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านแว่นตา ร้านถ่ายรูป ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งเห็นได้ว่าอาคารของโจทก์มิได้ใช้เฉพาะเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม ภ.ร.ด. 8 เล่มที่ 4/45 เลขที่ 79 และ 80 ลงวันที่ 26 กันยายน 2545 และคำวินิจฉัยชี้ขาดตามใบชี้ขาดเลขที่ สป 73001/1020 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2545 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินค่าภาษีจำนวน 9,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์ นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 หรือไม่ ข้อนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินเนื่องจากเป็นโรงเรียนสาธารณะที่มิได้มุ่งแสวงหากำไรส่วนบุคคล เห็นว่า ตามมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 นั้น ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้นที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าการได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือต้องเป็นทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อผลกำไรส่วนบุคคลและต้องใช้ทรัพย์สินนั้นในการศึกษาโดยเฉพาะเท่านั้น กรณีของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์มีกำไรจากการดำเนินกิจการมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเพิ่มสูงขึ้นทุกปี งบรายได้และค่าใช้จ่ายรวมของโจทก์ในปี 2545 มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายกว่า 700,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าปี 2544 ถึง 300,000,000 บาท แสดงให้เห็นว่าเป็นกิจการเพื่อแสวงหาผลกำไรส่วนบุคคลมากกว่าที่จะเป็นกิจการเพื่อสาธารณะ เพราะถ้าเป็นกิจการเพื่อสาธารณะแล้วก็ไม่ควรจะแสวงหากำไรมากมายถึงขนาดนั้น อีกทั้งโจทก์ยังใช้สถานที่ดังกล่าวแสวงหารายได้นอกเหนือจากการศึกษาโดยนำเอาอาคารสถานที่ไปให้บุคคลภายนอกเช่าทำเป็นศูนย์การค้ามีร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านแว่นตา ร้านถ่ายรูป ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งเห็นได้ว่าอาคารของโจทก์มิได้ใช้เฉพาะเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว ฟังได้ว่ากิจการของโจทก์เป็นกิจการเพื่อแสวงหาผลกำไรส่วนบุคคล และมิได้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายเกี่ยวกับการประเมินนั้น เห็นว่า ตามรายละเอียดการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ประเมินค่ารายปีโดยคิดคำนวณจากค่าเช่าเฉลี่ยจากอัตราที่โจทก์ให้เช่าพื้นที่ ประกอบกับราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่กำหนดขึ้นตามหนังสือแนะนำของกระทรวงมหาดไทย จึงได้ค่ารายปีตามแบบ ภ.ร.ด. 2 เลขที่ 472/2545 เป็นค่ารายปี 28,295,472 บาท และตาม ภ.ร.ด. 2 เลขที่ 473/2545 เป็นค่ารายปี 51,188,688 บาท แต่จำเลยที่ 1 ได้กำหนดลดค่ารายปีลงให้โจทก์อีก ทั้งนี้ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของสถานการศึกษาเอกชนอันเป็นประโยชน์แก่โจทก์โดยลดลงเหลือค่ารายปีเป็น 24,000,000 บาท เป็นค่าภาษี 3,000,000 บาท และค่ารายปี 48,000,000 บาท ค่าภาษี 6,000,000 บาท ตามลำดับ จึงเป็นการจัดเก็บภาษีด้วยความเป็นธรรม การประเมินของเจ้าพนักงานและคำชี้ขาดดังกล่าวจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share