คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1498/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยไม่มีเจตนาที่จะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นมอบให้แก่ ต. แล้วต่อมา ต. ได้นำเช็คฉบับนี้ไปขอแลกเงินสดจากผู้เสียหาย โดยขณะที่ผู้เสียหายรับเช็คไว้รู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นเช็คที่ไม่มีเงิน ดังนี้แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเมื่อผู้เสียหายนำไปยื่นขอรับเงิน จำเลยก็ยังไม่มีความผิดฐานออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๔ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยออกเช็คสั่งสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด จ่ายเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท โดยมิได้ลงวันที่สั่งจ่ายเพื่อเป็นการชำระหนี้มอบให้นายตงซิ้ว แซ่อื้อ ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๑๐ เวลากลางวัน นายตงซิ้วได้มอบเช็คฉบับนี้ให้นายกิมชวน แซ่ลิ้ม ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้นายกิมชวนผู้เสียหายได้ประทับตราวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ลงในเช็ค แล้วนำเข้าบัญชีที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาเจริญผล เพื่อเรียกเก็บเงินสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งนี้โดยจำเลยออกเช็คที่กล่าวโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เหตุเกิดที่ตำบลสัมพันธวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๓ จำคุก ๒ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เช็คของกลางรายนี้จำเลยได้ออกให้แก่นายตงซิ้ว แซ่อื้อ โดยไม่ได้ลงวันที่แม้คำนางเง็กเอ็ง แซ่ลิ้ม ภรรยานางตงซิ้วจะว่าเป็นเช็คที่จำเลยนำมาแลกเงิน ก็ฟังไม่ถนัดว่าเป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อการชำระหนี้เพราะถ้าเป็นเช็คออกเพื่อการชำระหนี้จริงแล้วก็น่าจะต้องลงวันสั่ง จ่ายให้เป็นมั่นเหมาะว่าจะชำระวันใด ซึ่งรับรองว่าวันนั้นจำเลยจะต้องมีเงินอยู่ในธนาคาร เมื่อเป็นเช็คไม่ลงวันที่เช่นนี้กลับแสดงให้เห็นว่าทั้งจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและนายตงซิ้วซึ่งเป็นผู้รับเช็ครู้กันอยู่ดีแล้วว่าขณะออกเช็คนั้นผู้สั่งจ่ายไม่มีเงินในธนาคาร จึงถือได้ว่าจำเลยออกเช็คโดยไม่มีเจตนาที่จะใช้เช็คนั้นหรือโดยไม่มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น เมื่อพิเคราะห์คำนายกิมชวน แซ่ลิ้ม ผู้เสียหายประกอบด้วยแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าเช็คนี้เป็นหลักประกันการกู้เงินเท่านั้นเพราะผู้เสียหายเบิกความว่า นายตงซิ้วบอกว่าเช็คนี้จำเลยกู้เงินจากนางตงซิ้วแล้วมอบเช็คเป็นประกันนางตงซิ้วเอาไปขึ้นไม่ได้ จึงเอามาแลกเงินกับผู้เสียหาย ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าเช็คนี้จำเลยไม่ได้ออกเพื่อชำระหนี้ หากออกให้เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ความจากนางเง็กเอ็งอีกว่า จำเลยนำมาแลกเงินกับนายตงซิ้ว ๖-๗ ปีแล้ว ซึ่งถ้าจำเลยออกเพื่อชำระหนี้ก็ควรที่นายตงซิ้วจะนำไปขอรับเงินจากธนาคารเสียในระยะเวลา ๑ หรือ ๒ ปีใกล้ ๆ นั้นแต่ที่กลับปล่อยปละละเลยไว้เป็นเวลาเนิ่นนานถึง ๖-๗ ปี ทั้งในขณะที่จำเลยออกเช็ค คือ พ.ศ. ๒๕๐๔ นายถนอม พูนสวัสดิ์ พนักงานสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการธนาคารมีหน้าที่คุมเงินเข้าออกและควบคุมบัญชีเดินสะพัดยังเบิกความว่า เช็คนี้เป็นของธนาคารจริง ซึ่งได้ออกให้ลูกค้าแต่ปี ๒๕๐๔ แต่ธนาคารปิดบัญชีผู้สั่งจ่ายประมาณ ๖-๗ ปีแล้ว และจำเลยมีเงินฝากในธนาคารครั้งแรกหนึ่งหมื่นบาท แสดงว่าในระยะเวลาที่จำเลยออกเช็ค จำเลยอาจมีเงินหมื่นบาทฝากอยู่ในธนาคารก็ได้ การที่นายตงซิ้วรับเช็คจากจำเลยไว้นานเช่นนี้ กลับเป็นการสนับสนุนคำจำเลยที่ว่าจำเลยได้ออกเช็คเป็นประกันเงินกู้ให้แก่นายก๊กซื่อ ซึ่งกู้เงินนายตงซิ้วไปและจำเลยได้ชำระเงินกู้นั้นให้หมดแล้วขอเช็คคืน นายตงซิ้วกลับอ้างว่าหาเช็คไม่พบจำเลยจึงได้เขียนบันทึกให้นางตงซิ้วลงชื่อไว้ในสมุดพก ตามเอกสารหมาย ล.๑ ขณะที่นายตงซิ้วลงชื่อในบันทึกจำเลยก็มีนายสมพลรู้เห็นเป็นพยาน แสดงว่าหนี้รายนี้ได้มีการชำระเงินครบถ้วนแล้ว และจำเลยออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ หาใช่ออกเพื่อชำระหนี้ไม่ การที่ผู้เสียหายรับเช็คนี้ต่อมาจากนายตงซิ้วนั้นผู้เสียหายเองก็รบว่านายตงซิ้วได้บอกว่าเช็คนี้เอาไปขึ้นเงินไม่ได้จึงเอามาแลก แสดงว่าทั้งผู้ให้และผู้รับเช็คก็รู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นเช็คที่ไม่มีเงิน ผู้เสียหายยังเบิกความอีกว่านายตงซิ้วกู้เงินไปให้เช็คแก่พยานไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหมายถึงหลักฐานแห่งการกู้หนี้นั่นเองจึงถือว่าผู้เสียหายรับเช็คไว้เพื่อชำระหนี้เช่นเดียวกัน ดังนี้จำเลยจึงไม่มีความผิด ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์

Share