แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่มีจำเลยหลายคน โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยคนหนึ่งคนใดหากมิใช่เป็นคดีที่เป็นการชำะรหนี้แบ่งแยกกันมิได้ ก็ไม่ถือว่าได้กระทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น
ฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลความละเมิดต่างกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งให้รับผิดในมูลความผิดสัญญาหมั้น โดยหาได้รับผิดร่วมกันไม่ เมื่อโจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลก็ไม่จำต้องสอบถามจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นเรื่องของจำเลยที่ 1 ที่ถูกถอนฟ้องเท่านั้น จะคัดค้านหรือไม่คัดค้าน
การใช้สิทธิให้ศาลเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี แม้ว่าศาลได้สั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็ยังขอให้เรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีใหม่ได้ถ้ามีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) แต่ถ้ามูลความแห่งคดีของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ต่างกัน โดยโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลความละเมิด ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้รับผิดในมูลความผิดสัญญาหมั้น เช่นนี้ ย่อมไม่เป็นเหตุที่จะเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีให้ชี้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 อีก
ย่อยาว
คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาสู่ศาลฎีกา เนื่องจากระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ยื่นคำร้องคัดค้านว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงไม่มีโอกาสคัดค้านก่อนที่ศาลสั่ง ซึ่งศาลต้องให้โอกาสจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ คัดค้านก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๑ (๒) แม้ศาลได้สั่งให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ไปแล้วก็ดี เนื่องจากจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ละเมิดในคดีนี้โดยตรง จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในการรับผิดต่อไปได้ ขอให้ศาลเรียกจำเลยที่ ๑ เข้ามาเป็นจำเลยในคดีนี้ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓)
ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อสอบถามจำเลย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มาศาล ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยที่ ๑ แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ คงยืนยันให้โจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ ได้ ให้นัดสืบพยานโจทก์ต่อไป
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ถูกศาลหมายเรียกเข้ามาในคดี ถือว่าเป็นผู้ร้องสอด ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยมิได้สอบถามจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ผู้ร้องสอดแต่อย่างใด ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๕ (๑ ) พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสอบถามฟังความจำเลยที่ ๓, ๔ ก่อนแล้วสั่งใหม่ตามรูปความ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้จำเลยที่ ๓, ๔ อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๕ ที่คงยืนยันให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ได้ และยกคำร้องของจำเลยที่ ๓, ๔ เสียคือไม่เรียกจำเลยที่ ๑ เข้ามาในคดีอีกตามคำขอ ศาลชั้นต้นได้สั่งเช่นนี้โดยฟังคำแถลงของจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่คัดค้าน ส่วนจำเลยที่ ๓, ๔ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านไว้แล้ว ในนัดพร้อมเพื่อสอบถาม จำเลยที่ ๓, ๔ ก็มิได้มาศาลแถลงเหตุคัดค้านเพิ่มเติมทั้งที่ได้ทราบนัดแล้ว ศาลไม่จำต้องรอฟังคำคัดค้านของจำเลยที่ ๓, ๔ อีกต่อไป อีกประการหนึ่ง ในคดีที่มีจำเลยหลายคน โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยคนหนึ่งคนใด หากมิใช่เป็นคดีที่เป็นการชำระหนี้แบ่งแยกกันมิได้ ถือว่าได้กระทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในมูลความผิด ต่างกับจำเลยที่ ๓, ๔ ซึ่งให้รับผิดในมูลความผิดสัญญาหมั้น หาได้รับผิดร่วมกันไม่ ศาลจึงจำต้องสอบถามจำเลยที่ ๓, ๔ เป็นเรื่องของจำเลยที่ ๑ ที่ถูกถอนฟ้องเท่านั้นจะคัดค้านหรือไม่คัดค้าน
ส่วนการใช้สิทธิให้ศาลเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี แม้ว่าศาลสั่งถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ พ้นจากคดีไปแล้ว จำเลยที่ ๓, ๔ ก็ขอให้เรียกเข้ามาในคดีใหม่ด้โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๗ (๒) แต่เรื่องนี้มูลความแห่งคดีของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓, ๔ ต่างกันดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ ๑ หาต้องรับผิดตามสัญญาหมั้นร่วมกับจำเลยที่ ๓, ๔ ไม่ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการละเมิดสิทธิของคู่หมั้นซึ่งต้องเสียค่าตอบแทนต่างหาก เมื่อโจทก์ไม่ติดใจว่ากล่าวเสียแล้ว ก็คงเหลือแต่เรื่องผิดสัญญาหมั้น จึงไม่มีเหตุที่จะเรียกจำเลยที่ ๑ เข้ามาในคดีให้ชี้ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ อย่างใดอีก ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องถูกต้องแล้ว พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ ๓, ๔ ตามคำสั่งศาลชั้นต้น