คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 446/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลย จำเลยให้การว่า โจทก์กับจำเลยได้หย่ากันแล้วโดยทำหนังสือหย่า ในชั้นสืบพยาน จำเลยย่อมอ้างได้ว่าเอกสารการหย่าสูญหายไป ขอนำสืบพยานบุคคลแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ก) โดยสืบให้ฟังได้ด้วยว่าจำเลยไม่สามารถนำเอกสารนั้นมาแสดงเสียแล้วทั้งนี้โดยจำเลยไม่จำต้องกล่าวไว้ในคำให้การด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อ 30 ปีเศษมานี้ โจทก์จำเลยแต่งงานเป็นสามีภริยากันโจทก์มีสินเดิม จำเลยไม่มีสินเดิม มีสินสมรสตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง เมื่อราว 16 ปีมานี้จำเลยได้นางล้วนมาเป็นนางบำเรอ ไม่ให้โจทก์อยู่ร่วมกับจำเลย และหมิ่นประมาทโจทก์และวงศ์ตระกูลโจทก์ กับทำร้ายร่างกายโจทก์ ไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ขับไล่โจทก์ให้ไปอยู่ที่อื่น โจทก์ไม่อาจเป็นสามีภริยากับจำเลยต่อไปขอให้พิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากกัน และแบ่งสินสมรส

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสินเดิม จำเลยมีสินเดิม ทรัพย์บางอันดับไม่ใช่สินสมรส เมื่อ พ.ศ. 2483 โจทก์กับจำเลยได้หย่าขาดกันได้ทำหนังสือหย่าเป็นหลักฐาน ซึ่งในการหย่ากันนั้นโจทก์สละไม่เอาทรัพย์สินสมรสที่มีอยู่ ทรัพย์บางอันดับเกิดขึ้นระหว่างจำเลยกับนางล้วนเป็นสามีภริยากัน จำเลยไม่เคยหมิ่นประมาทหรือทำร้ายโจทก์โจทก์จำเลยหย่าขาดกันแล้ว ไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดต่อกันอีกแม้ทรัพย์บางอันดับจะเป็นสินสมรสก็ขอแบ่งไม่ได้เพราะขาดอายุความแล้ว

ในชั้นชี้สองสถาน ศาลกะประเด็นนำสืบไว้ดังนี้

1. โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือไม่

2. จำเลยหมิ่นประมาทหรือทำร้ายโจทก์จริงหรือไม่

3. โจทก์จำเลยมีสินเดิมหรือไม่

4. ทรัพย์อันดับ 2, 3, 4 เป็นสินสมรสหรือไม่

5. คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ศาลให้โจทก์นำสืบก่อน เมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว ถึงวาระจะสืบพยานจำเลย ศาลสอบถามจำเลยถึงเอกสารการหย่า จำเลยแถลงว่าหลักฐานดังกล่าวหายไป เพราะเป็นเวลานานมาแล้ว จำเลยจะขอสืบพยานบุคคลแทนตามประเด็นข้อแรก ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1498 เมื่อจำเลยจะนำสืบถึงการหย่าโดยความยินยอม จะต้องมีเอกสารหลักฐานการหย่ามาแสดง แต่จำเลยแถลงว่าเอกสารหายไป และเหตุที่เอกสารหายไปจำเลยก็ไม่กล่าวไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบตามข้อต่อสู้นี้ได้ จึงไม่อนุญาตให้จำเลยสืบแก้ในประเด็นข้อ 1 และประเด็นข้อ 4, 5 ก็เป็นอันตกไปในตัว จึงให้สืบเฉพาะข้อ 2, 3 จำเลยได้แถลงโต้แย้งไว้ ในที่สุดศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกัน ทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 และ 4 เป็นสินสมรสให้แบ่งให้โจทก์ 1 ส่วน จำเลย 2 ส่วน

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะให้เอาสินสมรสหักใช้สินเดิมของทั้งสองฝ่ายก่อนแบ่ง

จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานบุคคลแทนเอกสารหย่าที่หาย กับไม่อนุญาตให้สืบตามประเด็นข้อ 4, 5 เป็นการไม่ชอบ

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเอกสารหย่าสูญหายนั้นไม่ใช่ประเด็นในคดีที่โต้เถียงกัน ประเด็นโดยตรงที่พิพาทกันก็คือว่า โจทก์กับจำเลยได้ยินยอมหย่ากันแล้วโดยทำหนังสือหย่าดังที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้จริงหรือไม่ ส่วนข้อต่อสู้นี้จะมีพยานหลักฐานอย่างใดมาพิสูจน์บ้างนั้นเป็นรายละเอียดชั้นสืบพยานจำเลยไม่จำต้องกล่าวไว้ในคำให้การฉะนั้น ข้อที่ว่าเอกสารการหย่าสูญหาย จะขอสืบพยานบุคคลแทนนั้นจึงไม่ต้องกล่าวไว้ในคำให้การด้วย เมื่อกรณีเป็นเรื่องเอกสารสูญหายจำเลยก็มีสิทธิขอสืบพยานบุคคลแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ก) โดยสืบให้ฟังได้ด้วยว่า จำเลยไม่สามารถนำเอกสารนั้นมาแสดงเสียแล้ว ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยสืบพยานบุคคลแทนเอกสารหย่าที่จำเลยอ้างว่าสูญหายนั้น ไม่เห็นพ้องด้วยและจำเลยย่อมนำสืบประเด็นข้อ 4, 5 ได้เช่นกัน พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลทั้งสองเสียให้สืบพยานจำเลยตามข้อต่อสู้แล้วพิพากษาใหม่

Share