คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์แจ้งให้จำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบแก่โจทก์พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษา จำเลยจึงนำรถยนต์ไปส่งมอบให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับโดยแจ้งว่านโยบายของบริษัทจะไม่รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โดยจะขอรับเงินตามคำพิพากษาจำเลยจึงนำรถยนต์และเงินไปวางทรัพย์ณ สำนักงานวางทรัพย์การที่โจทก์ไม่ยอมรับรถยนต์ที่คืนและจำเลยได้วางทรัพย์ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาแล้วแม้เป็นการชำระหนี้หลังจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยเพื่อบังคับตามคำพิพากษาก็ตาม ก็ถือได้ว่าไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับต่อไป ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นผลให้ หมายบังคับคดีสิ้นผลไปโดยผลแห่งการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6ค-7522 กรุงเทพมหานครที่เช่าซื้อไปคืนให้โจทก์ในสภาพที่ใช้การได้ดี ถ้าไม่ส่งมอบคืนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 17,463 บาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 19,500 บาท และชำระค่าเสียหายให้โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถที่เช่าซื้อแต่ไม่ให้เกิน 10 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองทราบคำบังคับแล้วโดยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 2 และ 3กุมภาพันธ์ 2537 ตามลำดับแต่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับคำบังคับ จึงไม่ทราบว่าต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 175043 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ทั้ง ๆที่จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์หลายครั้ง เพื่อขอคืนรถยนต์พร้อมค่าเสียหายจำนวน 34,500 บาท ตามคำพิพากษาแต่โจทก์ไม่ยอมรับรถยนต์ จะรับแต่เงินจำนวน 117,463 บาทกรณีจึงเห็นได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ยอมรับการชำระหนี้มิใช่จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา การที่โจทก์ขอออกหมายบังคับคดีจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ขอให้ยกเลิกหมายบังคับคดีและถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อมเพื่อสอบถาม ก่อนถึงวันนัดเมื่อวันที่26 และ 27 กันยายน 2537 จำเลยทั้งสองได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเงินจำนวน 39,865 บาท ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลางเพื่อให้โจทก์รับไปตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 และภาพถ่ายหมาย ล.5 ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกเลิกหมายบังคับคดีจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ชั้นไต่สวนจำเลยที่ 1 เบิกความว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ส่งจดหมายแจ้งให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบแก่โจทก์พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จึงนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบให้โจทก์ แต่พนักงานของโจทก์ไม่ยอมรับโดยแจ้งว่านโยบายของบริษัทจะไม่รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจะขอรับเงินตามคำพิพากษา หลังจากนั้น จำเลยที่ 1ไปติดต่อโจทก์อีก 3-4 ครั้งแต่โจทก์ไม่ยอมรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน จำเลยทั้งสองจึงนำรถยนต์ที่เช่าซื้อและเงินไปวางทรัพย์ ณ สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างและโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งการวางทรัพย์ของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ยอมรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและจำเลยทั้งสองได้วางทรัพย์ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาแล้วแม้เป็นการชำระหนี้หลังจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 2 ตามหมายบังคับคดีเพื่อบังคับตามคำพิพากษาก็ตาม ก็ถือได้ว่าไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับต่อไปซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295(1)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นผลให้หมายบังคับคดีสิ้นผลไปโดยผลแห่งการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share