คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10130/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดหรือผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันตาม ป.พ.พ.มาตรา ๙๑๘ ประกอบมาตรา ๙๘๙ ช.เป็นผู้จัดการมรดกของ ก.ตามคำสั่งศาล ก.ทำพินัยกรรมต่อหน้า ช. น. และ ย. โดยพินัยกรรมระบุให้โจทก์เป็นผู้ร่วมรับมรดก หลังจาก ช.เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแล้ว ช.ได้มอบเช็คพิพาทซึ่งเป็นส่วนแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ จำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าพินัยกรรมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใดบ้าง และคำให้การของจำเลยก็มิได้ปฏิเสธว่าก.มิได้ทำพินัยกรรมแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าเป็นที่น่าสงสัยว่า ก.ทำพินัยกรรมจริงหรือไม่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว เมื่อโจทก์ผู้เป็นทายาทโดยพินัยกรรมได้รับมอบเช็คพิพาทจากผู้จัดการมรดกเช่นนี้โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยการสืบสิทธิจาก ก.เจ้ามรดกหาใช่เป็นผู้รับโอนจากผู้ทรงคนก่อนโดยลำพังไม่ จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะนำสืบต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับ ก. ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา ๙๑๖
จำเลยอ้างว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทระงับสิ้นไปด้วยการหักกลบลบหนี้กัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ให้เห็นโดยชัดแจ้ง แต่เมื่อพยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ มูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงมิได้ระงับสิ้นไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา ๙๐๐ วรรคหนึ่ง

Share