แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ท้าย ป.วิ.พ. (ค่าขึ้นศาล)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่า คดีหนึ่งเสียค่าขึ้นศาล ไม่เกินสองแสนบาท ดังนั้นในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) บัญญัติว่า คำฟ้อง หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลฯ ดังนี้ การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้หรือไม่
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และปี 2538 และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2537 ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มจัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมินและให้เจ้าพนักงานประเมินผู้ประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 38 และ 77 โดยการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินการเสียภาษีเงินได้ของนิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 และการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของ เจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83 และ 83/1 ว่าถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้รายได้และรายจ่ายหรือแสดงรายการภาษีขายและภาษีซื้อ รวมทั้งการเครดิตภาษีแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหรือ แต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีแล้วแต่กรณี และการฟ้องคดีของโจทก์ก็เพื่อให้จำเลยชำระภาษีตามที่ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหรือแต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีแล้วแต่กรณี ดังนั้น สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่อง การประเมินภาษีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหรือแต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีแล้วแต่กรณี ซึ่งในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีและแต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ข้อหาหนึ่งและปี 2538 ข้อหาหนึ่ง รวมทั้งฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2537 อีกข้อหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 3 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามข้อหา
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามกฎหมาย จำเลยเป็นบริษัท จำกัด จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว เจ้าพนักงานของโจทก์ออกหมายเรียกเลขที่ กค 0825/51 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2540 ตรวจสอบการเสียภาษีอากรของจำเลย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และปี 2538 ให้จำเลยไปพบเจ้าพนักงานของโจทก์พร้อมกับนำบัญชีและเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไปมอบให้เจ้าพนักงานของโจทก์ จำเลยได้รับหมายเรียกแล้วแต่มิได้ไปพบเจ้าพนักงานของโจทก์เจ้าพนักงานของโจทก์จึงตรวจสอบรายได้ของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรให้จำเลยชำระเพิ่ม 9,942,063 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ก็ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรให้จำเลยชำระเพิ่ม 216,348 บาท ทั้งได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2537 ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรให้จำเลยชำระเพิ่ม 39,400 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยจำนวน 3 ฉบับ แล้ว และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยืนตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน แต่จำเลยไม่นำเงินค่าภาษีอากรตามจำนวนดังกล่าวมาชำระให้โจทก์ภายในกำหนด ขอให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรจำนวน 11,414,934.25 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาจำนวน 200,000 บาท แต่คดีนี้มีการออกใบแจ้งรายการประเมินภาษี 3 ฉบับ จึงให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาทตามรายการที่แจ้งการประเมินแต่ละฉบับให้ครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท ถูกต้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การกำหนดค่าขึ้นศาลของศาลภาษีอากรกลางมิได้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากการประเมินภาษีอากรรายนี้เกิดจากการออกหมายเรียกฉบับเดียวกันและประเมินภาษี โดยบุคคลเดียวกันและในคราวเดียวกัน ทั้งมีการแจ้งการประเมินภาษีในครั้งเดียวกันแม้เป็นคนละประเภทภาษีก็ตาม ถือได้ว่าเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกัน เป็นข้อหาเดียวกัน การเสียค่าขึ้นศาลจึงควรเสียในอัตราสองบาทห้าสิบสตางค์ต่อทุกหนึ่งร้อยบาทแต่ไม่เกินสองแสนบาท เห็นว่า พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. เรื่องค่าขึ้นศาล มิได้บัญญัติว่า คดีหนึ่งเสียค่าขึ้นศาลไม่เกินสองแสนบาท ดังนั้นในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) บัญญัติว่า คำฟ้อง หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลฯ ดังนี้ การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และปี 2538 และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2537 ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มจัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมินและให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินตาม ป. รัษฎากร มาตรา 38 และ 77 โดยการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินการเสียภาษีเงินได้ของนิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 และการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83 และ 83/1 ว่าถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้รายได้และรายจ่ายหรือแสดงรายการภาษีขายและภาษีซื้อ รวมทั้งการเครดิตภาษีแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหรือแต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีแล้วแต่กรณี และการฟ้องคดีของโจทก์ก็เพื่อให้จำเลยชำระภาษีตามที่ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหรือแต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีแล้วแต่กรณี ดังนั้น สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องการประเมินภาษีใน แต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหรือแต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีแล้วแต่กรณี ซึ่งในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหรือแต่ละเดือนภาษีหรือช่วงเวลาภาษีแล้วแต่กรณี ซึ่งในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีและแต่ละเดือนภาษีหรือ ช่วงเวลาภาษีไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ข้อหาหนึ่ง และปี 2538 ข้อหาหนึ่ง รวมทั้งฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2537 อีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 3 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามข้อหา ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาทที่พิพาทตามรายการที่แจ้งการประเมินแต่ละฉบับนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.