คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มิสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ โจทก์คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม วรรคสี่ และในกรณีนี้มาตรา 574 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อเท่านั้น
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยมีข้อความระบุว่า “แม้สัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รถยนต์คืน หรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ” ข้อสัญญาเช่นว่านี้ จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องเช่าซื้อ แต่ก็มิใช่เป็นกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลใช้บังคับแก่กันได้ ไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 และเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 204,974 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 64,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…ภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 ที่ต้องชำระภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ จนกระทั่งโจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ในวันที่ 31 มกราคม 2540 โจทก์ฎีกาว่า ค่าเช่าซื้อนับแต่งวดที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ เป็นเวลา 4 เดือน เป็นหนี้อันสมบูรณ์ที่ถึงกำหนดชำระแล้วและอยู่ในช่วงเวลาที่สัญญามีผลบังคับ แม้ภายหลังสัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันแล้วก็ไม่ทำให้หนี้ดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ โจทก์คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม วรรคสี่ และในกรณีนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 วรรคท้าย ที่ระบุว่า “อนึ่ง แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ” ข้อสัญญาเช่นว่านี้ จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ก็มิใช่เป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลใช้บังคับแก่กันได้ ไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 และเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 วรรคท้าย ที่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share