แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน โดยถือราคาประเมินของกรมที่ดินอันเป็นบัญชีราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดิน ซึ่งกำหนดราคาปานกลางของที่ดินที่ถูกเวนคืนไว้ก่อนวันที่ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับถึง 2 ปีเศษ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คำนึงถึงสภาพที่ดินของโจทก์ว่าเป็นที่ดินซึ่งมีความเจริญถึงขนาดที่มีสาธารณูปโภคครบถ้วนเพียงใดหรือไม่ ดังนี้ ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดขึ้นโดยอาศัยราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นหลักจึงมิใช่ค่าทดแทนเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่ถูกเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2524จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคือนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสี่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงและไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสี่ได้รับค่าทดแทนตามที่จำเลยกำหนดไปก่อน โดยสงวนสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนในส่วนที่ขาดตามกฎหมาย จึงขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนส่วนที่ขาดให้โจทก์ทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ค่าทดแทนที่กำหนดให้โจทก์ทั้งสี่เป็นราคาที่ดินที่ถูกต้องเป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน101,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 90,000 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน61,250 บาท และโจทก์ที่ 6 จำนวน 142,470 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 15,150 บาท13,922.50 บาท 8,575 บาท และ 19,822 บาท ตามลำดับ
จำเลยสำนวนที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยสำนวนที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสี่มีที่ดินอยู่ที่ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี อธิบดีกรมโยธาธิการเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และกำนดค่าทดแทน จำเลยได้เวนคืนที่ดินโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6คิดเป็นเนื้อที่ 101 ตารางวา 72 ตารางว่า 49 ตารางวาและ 101 ตารางวา ตามลำดับ และจำเลยได้กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นเงิน 101,000 บาท 40,775 บาท36,750 บาท และ 75,740 บาท ตามลำดับ โจทก์ที่ 6 ถมดินในที่ดินทีถูกเวนคืน จำเลยกำหนดค่าถมดินให้ 36,000 บาท โจทก์ทั้งสี่ได้รับเงินดังกล่าวไปแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสี่สำนวนฎีกาว่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสี่เหมาะสมและเป็นธรรม โจทก์ทั้งสี่นำสืบไม่ได้ว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาเท่าใด โจทก์ทั้งสี่จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีนั้น เห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้วให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้
(1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ฯลฯ” พระราชกษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2524 ใชับังคับตั้งแต่วันที่14 กรกฎาคม 2524 … จึงน่าเชื่อว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นที่จัดสรรอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ดินแปลงนี้ มีราคาซื้อขายตามธรรมดาในท้องตลาดประมาณตารางวาละ 2,000 บาท ดังที่ศาลล่างทั้งสองฟังมา การที่จำเลยนำสืบว่าคณะอนุกรรมการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่จะเวนคืนโดยถือราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นหลักเนื่องจากเป็นราคาสูงสุดเหมาะสมและเป็นธรรมแล้วนั้น เห็นว่า ราคาประเมินของกรมที่ดินที่ใช้ราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ทั้งยังปรากฏตามเอกสารหมาย ล. 11 ซึ่งเป็นบัญชีราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ซึ่งจำเลยถือเป็นหลักในการกำหนดค่าทดแทนว่า ได้มีการกำหนดราคาปานกลางของที่ดินในตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี ไว้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2522 ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวข้างต้นใชับังคับถึง 2 ปีเศษ และไม่ปรากฏว่า จำเลยได้คำนึงถึงสภาพที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ว่าเป็นที่ดินซึ่งมีความเจริญถึงขนาดที่มีสาธารณูปโภคครบถ้วนเพียงใดหรือไม่ ค่าทดแทนตามที่จำเลยกำหนดขึ้นโดยอาศัยราคาประเมินข้างต้นเป็นหลัก จึงมิใช่ค่าทดแทนเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับดังฎีกาของจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ในราคาตารางวาละ2,000 บาท จึงขอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นและชอบด้วยความเป็นธรรมแล้ว…”
พิพากษายืน.