คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ชกต่อยกับโจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีโจทก์ร่วมโดยไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีและพกอาวุธปืนมาด้วย หรือได้มีการคบคิดกันมาก่อนว่าจะใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม แม้จำเลยทั้งสามจะเกิดความไม่พอใจโจทก์ร่วมจากสาเหตุอย่างเดียวกันและนั่งรถมาด้วยกันก่อนเกิดเหตุ ทั้งยังขึ้นรถยนต์หลบหนีไปด้วยกันหลังเกิดเหตุ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พูดจาหรือกระทำการใดๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการพยายามฆ่าโจทก์ร่วม และการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามลำพัง อันเป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 โดยฉับพลันในขณะนั้นเอง ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสจากการถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิง มิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายเท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 คงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 เพราะความผิดฐานพยายามฆ่ารวมการกระทำดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
จำเลยที่ 3 ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ซึ่งมีผลเท่ากับจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาในความผิดฐานนี้ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในฐานความผิดฐานนี้แล้ว จึงเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ศาลชั้นต้นมิได้อนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดต่อ พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ เพราะโจทก์ร่วมมิใช่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าว
ความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 12 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 9 ปี ย่อมห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ร่วมเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 91, 83, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8, ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายสมชาย จดแตง ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันพยายามฆ่า
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 288, 80, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 12 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 14 ปี ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสามในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยคนละ 10 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ได้ชกต่อยและกอดปล้ำกับโจทก์ร่วม ขณะเดียวกันโจทก์ร่วมถูกตีที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บแผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และถูกยิงด้วยอาวุธปืน 1 นัด ที่ชายโครงด้านซ้าย กระสุนปืนทะลุกระบังลม กระเพาะอาหาร ขั้วไตซ้ายและกล้ามเนื้อหลังมีเลือดตกภายในช่องท้อง 2,000 มิลลิลิตร (2 ลิตร) ต้องผ่าตัดรักษาโดยการตัดไตข้างซ้ายออก เย็บซ่อมกระเพาะอาหาร เย็บซ่อมกระบังลม แพทย์ลงความเห็นว่า หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีโจทก์ร่วมจะเสียชีวิต และบาดแผลของโจทก์ร่วมจะรักษาหายภายใน 1 เดือน ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย ป.จ.6 (ศาลจังหวัดชลบุรี) โจทก์ร่วมรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 9 วัน และรักษาต่อที่บ้านอีกประมาณ 1 เดือน จึงหายเป็นปกติมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามร่วมกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีประจักษ์พยานมาเบิกความ 2 ปาก คือ ตัวโจทก์ร่วมและนางทุเรียน สนธิ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนค้าขายกุ้งด้วยกันได้ความจากโจทก์ร่วมว่ารู้จักจำเลยทั้งสามมาก่อนเนื่องจากค้าขายกันมา 2 ปีเศษ ส่วนนางทุเรียนเบิกความว่า รู้จักจำเลยที่ 1 มาประมาณ 6 ถึง 7 ปี เคยออกทะเลด้วยกัน จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 เห็นมาตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 พยานทั้งสองเบิกความถึงเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุว่าโจทก์ร่วมว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์มาบรรทุกกุ้งจากบ่อกุ้งที่ตำบลบางนาง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี นำไปส่งที่ตลาดกลางค้ากุ้งมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ตอนเช้าของวันที่ 4 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปรับกุ้งที่บ่อกุ้งและนำกุ้งขึ้นรถยนต์บรรทุกเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อออกจากบ่อกุ้งโดยไฟหน้าของรถใช้การไม่ได้ โจทก์ร่วมขับรถยนต์กระบะตามไปพร้อมกับนางทุเรียน ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกกุ้งไปได้ประมาณ 2 กิโลเมตร ก็เกิดอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำกุ้งที่บรรทุกราคาประมาณ 500,000 บาท ได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมลงจากรถยนต์ไปต่อว่าจำเลยที่ 3 ว่า ถ้าขับรถอย่างนี้ผมหมดตัวแล้ว ให้เอาไปเผาเลยทั้งกุ้งทั้งรถ จำเลยที่ 3 พูดตอบว่า ให้มึงเอาไปเผาสิ จากนั้นได้โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 1 ให้นำรถยนต์บรรทุกมาเปลี่ยน ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถยนต์กระบะมาถึงโดยมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันใหม่มาเปลี่ยนถ่ายกุ้ง ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้พูดบ่น โจทก์ร่วมจึงพูดว่าตนเป็นผู้เช่ารถยนต์มา จำเลยที่ 1 โต้ตอบว่า ถึงบ้านจะเห็นดีกัน เมื่อเปลี่ยนถ่ายกุ้งเสร็จรถยนต์บรรทุกคันใหม่ก็เดินทางไปที่บ้านของจำเลยที่ 1 ที่ตำบลคลองด่าน อำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อคัดแยกกุ้งใหม่ก่อนจะนำไปส่งที่ตลาดกลางค้ากุ้งมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ต่อไปในคืนนั้น ส่วนเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ ได้ความจากพยานทั้งสองว่า โจทก์ร่วมและนางทุเรียนเดินทางไปถึงตลาดกลางค้ากุ้งมหาชัยเมื่อเวลาประมาณ 3 นาฬิกา ของวันที่ 5 พฤษภาคม 2540 ปรากฏว่ารถยนต์บรรทุกกุ้งไปถึงก่อนและได้ขนกุ้งลงจากรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่หน้าตลาดกลางค้ากุ้งมหาชัยแล้ว โจทก์ร่วมจดรถยนต์ให้นางทุเรียนลงที่หน้าตลาดแล้วขับรถยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถหน้าห้องน้ำห่างออกไปประมาณ 10 เมตร ขณะเดียวกันจำเลยทั้งสามและนายสั้นลูกจ้างอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุตามภาพถ่ายหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดชลบุรี) เข้ามาจอดเทียบห่างจากรถยนต์ของโจทก์ร่วมประมาณ 1 วา เมื่อโจทก์ร่วมลงจากรถยนต์ จำเลยที่ 3 เดินเข้าไปใช้มือลูบคลำที่เอวของโจทก์ร่วมเพื่อหาอาวุธแล้วชกโจทก์ร่วม จึงเกิดการต่อสู่กอดปล้ำกัน จำเลยที่ 2 ใช้ไม้คมแฝกตีศีรษะโจทก์ร่วม ระหว่างนั้นนางทุเรียนได้เข้าห้ามปรามและร้องเรียกให้คนช่วย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่หยุดทำร้าย ทันใดนั้นจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนสั้นเข้าไปจ่อที่ชายโครงด้านซ้ายของโจทก์ร่วมพร้อมกับพูดว่า ไอ้สัตว์มึงตายเสียเถอะ แล้วจำเลยที่ 1 ยิงโจทก์ร่วม 1 นัด โจทก์ร่วมล้มลง จากนั้นจำเลยทั้งสามและนายสั้นวิ่งไปขึ้นรถยนต์กระบะขับหลบหนีไป ส่วนโจทก์ร่วมถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางคืน แต่ได้ความจากโจทก์ร่วมว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นลานกว้าง มีไฟนีออนติดอยู่ห่างออกไปประมาณ 10 เมตร ส่วนนางทุเรียนเบิกความว่าบริเวณนั้นมีแสงสว่างจากไฟนีออนที่ห้องน้ำ และไฟส่องทาง สามารถมองเห็นกันได้ชัดเจนไม่มีอะไรบัง นอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกนฤพนธ์ พลซา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาครว่าที่เกิดเหตุเป็นอาคารตลาดค้าขายกุ้งสุด ภายในอาคารมีแสงสว่างจากหลอดไฟนีออนขนาด 40 วัตต์ จำนวนมาก อาคารดังกล่าวไม่มีผนัง จุดที่โจทก์ร่วมถูกยิงอยู่ห่างจากอาคารประมาณ 20 เมตร จากการตรวจที่เกิดเหตุเมื่อเวลา 3 นาฬิกาเศษ มีแสงสว่างพอมองเห็นกันได้ จากพยานหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าที่จุดเกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนพอสมควร โดยเฉพาะโจทก์ร่วมและนางทุเรียนรู้จักคุ้นเคยกับจำเลยทั้งสามมาก่อนเป็นเวลานาน และก่อนเกิดเหตุเพียงเล็กน้อยก็เพิ่งได้พบและมีปากเสียงกันอันเป็นมูลเหตุที่ทำให้จำเลยทั้งสามไม่พอใจโจทก์ร่วม น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมและนางทุเรียนสามารถมองเห็นและจดจำผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้จริง แม้พยานทั้งสองปากนี้จะเบิกความแตกต่างกันอยู่บ้างและเบิกความแตกต่างไปจากที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนบางประการก็ตาม แต่ข้อแตกต่างเหล่านั้นเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นพิรุธหรือมีน้ำหนักลดน้อยลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำให้การชั้นสอบสวนของนางทุเรียนตามสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งให้การไว้ในวันเกิดเหตุนั้นเอง พยานย่อมจดจำเหตุการณ์ได้แจ่มชัดทั้งยังไม่มีเวลาคิดตรึกตรองเพื่อเบี่ยงเบนคำให้การให้แตกต่างไปจากความเป็นจริง จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือที่สุด ตามคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าว นางทุเรียนระบุว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกกุ้งพลิกคว่ำทำให้กุ้งตกออกนอกตู้ของรถยนต์บรรทุกลงพื้นถนนเสียหาย โจทก์ร่วมได้ด่าว่าจำเลยที่ 3 ด้วยความโมโหว่า “ควย ขับรถประสาควยอะไรวะ อย่างนี้กูก็หมด กูจะเหลืออะไร รถอย่างนี้มึงขับน่าเผาว่ะ” จำเลยที่ 3 โต้ตอบกลับว่า “ควย น้าชายพูดอย่างนี้ก็ไม่ถูกนะสี เดี๋ยวสวย มึงเจอกูแน่” ส่วนเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุนั้นนางทุเรียนระบุว่า เมื่อโจทก์ร่วมจอดรถยนต์ จำเลยที่ 3 ได้เดินเข้าไปหา เรียกโจทก์ร่วมลงจากรถยนต์แล้วชกหน้าโจทก์ร่วมอย่างแรง ส่วนจำเลยที่ 2 ถือท่อนไม้ขนาด 5 x 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เดินเข้าไปสมทบพร้อมกับคนงานอีกคนหนึ่ง แล้วจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีที่ศีรษะโจทก์ร่วมอย่างแรงหลายทีจนโจทก์ร่วมล้มลงกับพื้น จำเลยที่ 3 และคนงานอีกคนหนึ่งดังกล่าวเข้าเตะและกระทืบโจทก์ร่วมที่นอนอยู่ พยานวิ่งเข้าไปกอดโจทก์ร่วมและร้องห้ามไม่ให้ทำ แต่คนกลุ่มนั้นยังไม่หยุด ทันใดนั้นจำเลยที่ 1 เดินเข้ามาโดยถืออาวุธปืนซ่อนในมือแล้วใช้จ่อยิงโจทก์ร่วมเสียงดังปัง โจทก์ร่วมล้มลงนอนกับพื้นทันที แล้วจำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งหนีไปขึ้นรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ สีขาว หมายเลขทะเบียน 2 ท – 2505 กรุงเทพมหานคร ขับออกไปทันที ซึ่งทางพิจารณาไม่ปรากฏว่านางทุเรียนเคยมีสาเหตุโกรธเคืองใดๆ กับจำเลยทั้งสามมาก่อน ส่วนโจทก์ร่วมก็ไม่เคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้ใดที่ตลาดกลางค้ากุ้งมหาชัยอันจะเป็นชนวนให้ถูกปองร้าย พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักแน่นหนา รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนสั้นยิงโจทก์ร่วมจริง ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงจ่อยิงโจทก์ร่วมที่ชายโครง จนกระสุนปืนทะลุกระบังลม กระเพาะอาหาร ขั้วไตซ้ายและกล้ามเนื้อหลังได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องตัดไตออก เย็บซ่อมกระเพาะอาหาร เย็บซ่อมกระบังลม และต้องรักษาตัวนานกว่า 1 เดือน เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการยิงโดยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมไม่ถึงแก่ความตายเพราะแพทย์ผ่าตัดรักษาได้ทันท่วงที การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและฐานพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ทางนำสืบโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ชกต่อยกับโจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีโจทก์ร่วมโดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีและพกพาอาวุธปืนมาด้วย หรือได้มีการคบคิดกันมาก่อนว่าจะใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงโจทก์ร่วม แม้ตามพฤติการณ์จำเลยทั้งสามจะเกิดความไม่พอใจโจทก์ร่วมจากสาเหตุอย่างเดียวกัน และนั่งรถมาด้วยกันก่อนเกิดเหตุทั้งยังขึ้นรถยนต์หลบหนีไปด้วยกันหลังเกิดเหตุก็ตาม แต่พฤติการณ์เช่นนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่ามีการปรึกษาหารือ นัดแนะและคบคิดกันมาก่อน เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องให้จำเลยที่ 3 และที่ 2 เข้าไปชกต่อยและใช้ไม้ตีโจทก์ร่วมก่อนซึ่งจะทำให้โจทก์ร่วมรู้ตัวและเป็นจุดสนใจทำให้ผู้อื่นรู้เห็นเหตุการณ์ด้วย สู้รอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมแล้วใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมเสียทีเดียวจะเป็นการง่ายกว่า ทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พูดจาหรือกระทำการใดๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการพยายามฆ่าโจทก์ร่วม ตามพฤติการณ์ไม่มีเหตุผลน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานมีและพาอาวุธและพยายามฆ่าโจทก์ร่วม กรณีมีเหตุสมควรเชื่อได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมนั้น เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามลำพัง อันเป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 โดยฉับพลันในขณะนั้นเอง หาได้มีการสมคบกันมาก่อนไม่ ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การปฏิเสธมาตลอด ดังนั้นจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานความผิดตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้อง และเมื่อโจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสจากการถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิง จึงมิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กรณีคงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายเท่านั้น ซึ่งสามารถลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 83 ได้ เพราะความผิดตามฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่ารวมการกระทำดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 อนึ่ง แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งมีผลเท่ากับจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาในความผิดฐานนี้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในฐานความผิดฐานนี้แล้วจึงเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาข้อสุดท้ายที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้อนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เพราะโจทก์ร่วมมิใช่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 12 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 9 ปี ซึ่งห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง เว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันสมควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป ฎีกาของโจทก์ร่วมเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 วางโทษจำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสี่ คงลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกไว้มีกำหนดคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟัง โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นสมควร มีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share