คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.ก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 7 กำหนดว่า ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน… และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้วก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ดังนั้น ตามสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร ท. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินกับโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีสิทธิที่จะเข้าสวมสิทธิของธนาคาร ท. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะใช้สิทธิเพื่อบังคับคดีในคดีแพ่งตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมอ้างมูลหนี้ตามคำพิพากษาอันอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้
หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการค้าอันเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองทำด้วยกันระหว่างสมรส แม้มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพียงลำพังก็ตาม แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสของจำเลยทั้งสองจึงเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสองที่ยังไม่มีการแบ่งแยกและต้องนำมาชำระหนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489, 1490 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ และหนี้อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นนี้ฟังได้ว่า ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินได้ทำสัญญาโอนสินทรัพย์ของธนาคารให้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตามสัญญาโอนสินทรัพย์เอกสารหมาย จ.6 และตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว… และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” เช่นนี้ ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีสิทธิที่จะเข้าสวมสิทธิของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ธ. 3066/2541 ของศาลแพ่งที่จะใช้สิทธิเพื่อบังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าวตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมอ้างมูลหนี้ตามคำพิพากษาอันอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาหมายแลขแดงที่ ธ. 3066/2541 ของศาลแพ่ง ซึ่งหนี้ตามคำพิพากษานี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการค้าอันเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองทำด้วยกัน จึงเป็นหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (3) และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าจำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ล.3 และ ล.4 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.27 แล้วมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 133672 แขวงห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) เขตห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เอกสารหมาย ล.1 และ จ.13 แผ่นที่ 2 เนื้อที่ 109 ตารางวา จำเลยทั้งสองนำสืบว่าทางราชการได้ประเมินราคาไว้ตารางวาละ 60,000 บาท ตามสำเนาบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรายแปลงเอกสารหมาย ล.2 มีราคา 6,540,000 บาท ทั้งในวันขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้มีผู้เสนอราคาเป็นเงิน 5,520,000 บาท ซึ่งมิใช่ราคาทรัพย์ที่แท้จริงดังที่โจทก์ได้คัดค้านการขายทอดตลาดว่าต่ำไป โดยโจทก์มิได้นำสืบว่าราคาประเมินของทางราชการไม่ถูกต้องหรือสูงเกินจริง แต่กลับปรากฏว่าโจทก์รับจำนองที่ดินแปลงนี้เพื่อประกันหนี้จำนวน 7,000,000 บาท จึงเชื่อได้ว่าที่ดินแปลงนี้ควรมีราคา 6,540,000 บาท และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลต่างๆ ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะบังคับคดี ตามสำเนาคำพิพากษาและสำเนาคำพิพากษาตามยอมเอกสารหมาย ล.9 ล.11 ล.13 ล.15 ล.17 ล.19 ล.21 ล.23 ล.25 และ ล.27 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารที่ศาลรับรองให้ เป็นเงิน 3,550,000 บาท 1,367,190.21 บาท 143,000 บาท 256,500 บาท 500,000 บาท 370,000 บาท 250,000 บาท 256,500 บาท 250,000 บาท และ 256,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่กำหนดรวมเป็นเงิน 7,199,690.21 บาท เงินต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยดังกล่าวของสิทธิตามคำพิพากษาเช่นนี้ย่อมเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถบังคับคดีนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้ ดังนี้เมื่อรวมราคาที่ดินตามเอกสารหมาย ล.1 และ จ.13 แผ่นที่ 2 และสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาดังกล่าวย่อมเพียงพอแก่มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้เจ้าหนี้รายอื่น แต่จำเลยที่ 1 ก็มีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันโดยเจ้าหนี้มิได้ฟ้องร้องหรือทวงถามให้ชำระหนี้ ย่อมมีเหตุน่าเชื่อว่าเจ้าหนี้เหล่านั้นพอใจในหลักประกันว่าพอแก่หนี้ และจำเลยทั้งสองยังประกอบการค้ามีรายได้ที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เหล่านั้นได้ อีกทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันได้จดทะเบียนสมรสตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2520 ตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ล.29 ประกอบธุรกิจร่วมกัน แม้มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพียงลำพังก็ตาม แต่ก็ล้วนเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสของจำเลยทั้งสองจึงเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสองที่ยังไม่มีการแบ่งแยกและต้องนำมาชำระหนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1489 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรส…” ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วมีคำสั่งและคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดมานั้นยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share