แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดต้องตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคท้าย 340 ตรี แต่มาตรา 340 ตรี เป็นเพียงบทกำหนดโทษ ไม่ใช่บทเพิ่มโทษ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต้องได้รับโทษประหารชีวิตตามมาตรา 340 วรรคท้าย กรณีไม่มีทางที่จะวางโทษกึ่งหนึ่งตามที่มาตรา 340 ตรี บัญญัติไว้ จึงนำมาตรา 340 ตรี มาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคท้าย เท่านั้น
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 381/2542 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 4 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 4 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสำนวนคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 289 ให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 2,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2201/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าร่วมกับพวกลักทรัพย์ ปฏิเสธข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น และเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ (ที่ถูกวรรคท้าย), 289 (6) (7) เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทซึ่งบทหนักแต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คืนหรือใช้อาวุธปืนแก๊ปที่ยังไม่ได้คืน 2,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนที่ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2201/2541 ของศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ตามขอ คำขอข้อนี้จึงให้ยกเสีย และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังไว้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์เอาโค กระบือและอาวุธปืนแก๊ปยาวตามฟ้องของนายอ่อน โพธิสาร ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความดูแลของนายบุญเพ็ง โพธิสาร ผู้เป็นบุตรซึ่งมานอนเฝ้าอยู่ที่กระท่อมนาไป การปล้นทรัพย์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้ร่วมกันใช้เชือกมัดมือและเท้า และใช้เสื้อมัดคอนายบุญเพ็งจนติดแน่นติดไว้กับเสากระท่อมนาโดยมีเจตนาฆ่านายบุญเพ็งเป็นเหตุให้นายบุญเพ็งขาดอากาศหายใจถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฆ่าผู้ตายหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีสะอาด วีสูงเนิน พนักงานสอบสวนมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ในชั้นสอบสวนพยานได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่าร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่าร่วมกันปล้นทรัพย์และฆ่าผู้ตาย โดยได้ความอยู่ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันฆ่าผู้ตายด้วย ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.11 (ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู) ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อรับว่าถูกต้องตามที่บันทึกไว้ คำให้การดังกล่าวได้บันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้โดยละเอียดยืดยาว ไม่เชื่อว่าพนักงานสอบสวนจะปรุงแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 2 จึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบ สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยที่ 2 ในชั้นพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 เหตุที่ผู้ตายต้องถึงแก่ความตายนั้น ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์เอกสารหมาย จ.16 ระบุว่า สันนิษฐานว่าตายจากการขาดอากาศหายใจ สอดคล้องตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากนายอ่อนผู้เสียหายผู้พบศพผู้ตายว่า ผู้ตายถูกมัดแขน ขา และคอติดกับเสากระท่อมนา โดยแขนและขาถูกมัดด้วยเชือก ส่วนคอถูกมัดด้วยเสื้อ ทั้งได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ป.จ.11 (ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู) ดังกล่าวรับว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 กับที่ 4 ช่วยกันมัดผู้ตาย จำเลยที่ 4 บอกให้จำเลยที่ 2 หาเชือกมาอีก จำเลยที่ 2 ก็โยนเปลญวนให้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 มัดผู้ตายในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด และร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำผิดอื่นหรือปกปิดความผิดอื่นของตน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายกระทำผิดคดีนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย, 340 ตรี แต่มาตรา 340 ตรี เป็นเพียงบทกำหนดโทษ ไม่ใช่บทเพิ่มโทษ เนี่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต้องได้รับโทษประหารชีวิตตามมาตรา 340 วรรคท้าย กรณีไม่มีทางที่จะวางโทษกึ่งหนึ่งตามที่มาตรา 340 ตรี บัญญัติไว้ จึงนำมาตรา 340 ตรี มาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย เท่านั้น ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย โดยไม่ปรับบทลงโทษตามมาตรา 340 ตรีด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4