คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5921/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าโจทก์กระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องเงิน จำเลยจึงตักเตือนเป็นหนังสือ แต่โจทก์กลับกระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องเงินซ้ำอีก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาโดยระบุเหตุผลในการเลิกจ้างให้โจทก์ทราบแล้ว การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เป็นการทุจริตและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ซึ่งศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุงาน อัตราค่าจ้างสุดท้าย และการกระทำของโจทก์ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กระทำผิด ตลอดจนวันที่จำเลยบอกเลิกจ้างและวันที่การเลิกจ้างมีผล อันเป็นข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมครบถ้วน แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่าโจทก์กระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องเงินซ้ำอีก จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดดังที่จำเลยอ้าง การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและกำหนดค่าเสียหายให้พร้อมทั้งวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิและจำนวนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายครบทุกประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว แม้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจะรวบรัดไปบ้าง แต่ก็เป็นคำพิพากษาที่แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยโดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,488 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 59,928 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,488 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 59,928 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ ข้อ 2.1 สรุปได้ว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง กล่าวคือศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เรื่องค่าชดเชยและเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลตามกฎหมาย เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด จึงขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย โดยจำเลยให้การว่า โจทก์กระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องเงิน จำเลยจึงตักเตือนเป็นหนังสือ แต่ปรากฏว่าโจทก์กลับกระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องเงินซ้ำอีก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาโดยระบุเหตุผลในการเลิกจ้างให้โจทก์ทราบแล้ว การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงเป็นการทุจริตและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ซึ่งศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุงาน อัตราค่าจ้างสุดท้าย และการกระทำของโจทก์ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กระทำผิด ตลอดจนวันที่จำเลยบอกเลิกจ้างและวันที่การเลิกจ้างมีผล อันเป็นข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมครบถ้วน แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่าโจทก์กระทำความผิดเกี่ยวกับเงินซ้ำอีก จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดดังที่จำเลยอ้าง การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและกำหนดค่าเสียหายให้ พร้อมทั้งวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิและจำนวนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายครบทุกประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว แม้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจะรวบรัดไปบ้าง แต่ก็เป็นคำพิพากษาที่แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว อุทธรณ์ของจำเลย ข้อ 2.1 นี้จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ต่อไปโดยสรุปได้ว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเรื่องการเงินและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เมื่อโจทก์กระทำความผิดซ้ำในเรื่องเกี่ยวกับการเงินอีกจึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานของจำเลย ข้อ 2.6.1 ระบุถึงขั้นตอนการลงโทษทางวินัยไว้ โดยความผิดในขั้นรุนแรงมากระบุขั้นตอนไว้ในตัวอย่างของการกระทำความผิดท้ายข้อ 2.6.3 ว่า จะถูกพิจารณาตามขั้นตอนดังนี้ การกระทำความผิดครั้งแรกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งที่ 2 การกระทำความผิดซ้ำครั้งต่อไปให้พักงานเพื่อสอบสวนความผิด (เว้นแต่กรณีความผิดชัดแจ้ง) หากผิดจริงพิจารณาโทษให้พ้นสภาพการเป็นพนักงาน แต่ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า ในการกระทำที่จำเลยกล่าวอ้างโจทก์กระทำความผิดเกี่ยวกับการเงินเป็นความผิดครั้งแรกซึ่งจำเลยลงโทษโจทก์ในขั้นตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งที่ 2 และการกระทำที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์กระทำความผิดครั้งที่ 2 จำเลยก็ได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าโจทก์ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับการเงิน จึงเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 2.6.1 จึงเป็นกรณีที่ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว และเมื่อไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์กระทำความผิดเกี่ยวกับเงิน 1,300 บาท จึงมิใช่กรณีที่โจทก์กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 2.7 และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และ (4) การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันการกระทำความผิดของโจทก์ดังที่อุทธรณ์มาจึงไม่เข้ากรณีที่โจทก์กระทำการใดที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลย ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share