คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยและมารดาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกมานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ ป. เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อ ล. เข้าเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. จำเลยก็ยังเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทตลอดมานั้น ถือได้ว่าจำเลยครอบครองแทนทายาทของ ป. ทุกคน เพราะยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่ทายาทโดยชัดเจน แต่เมื่อ ล. ดำเนินการขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งแก่ทายาทของ ป. มารดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ป. ปฏิเสธไม่ยอมรับที่ดินที่แบ่งแยกให้โดยยืนยันต่อทายาทอื่นๆ ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว จะไม่ยินยอมยกให้ใคร จึงเป็นการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยชัดเจนว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว และเมื่อภายหลังจาก ก. รับโอนที่พิพาทจาก ล. ผู้จัดการมรดกแล้ว ก. ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด กลับปล่อยให้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองตลอดมา เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองได้รับโอนที่ดินพิพาทจาก ก. เกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
การที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ก. โดยรู้ดีว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาก่อนแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตอันจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์ เป็นการทำให้จำเลยผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 21265 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21264 จำเลยได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้ว โรงเรือน ศาลพระภูมิออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการแทนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และห้ามจำเลยพร้อมบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 21265 และ 21264 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 2667 เป็นกรรมสิทธิ์ของนางเปลื้อง มากเพ็ชร ซึ่งขณะมีชีวิตอยู่ได้มอบที่ดินโฉนดเลขที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวให้นายเย็นและนางยุกซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยครอบครองทำกิน นายเย็นและนางยุกได้ปลูกสร้างบ้านและศาลพระภูมิบนที่ดินและได้ทำประโยชน์โดยทำไร่และสวนในที่ดินทั้งแปลงตั้งแต่ปี 2514 ต่อมานางเปลื้องถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2528 นางลมูล ตันตยาทร ผู้จัดการมรดก ได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยรวม 6 แปลง แล้วแบ่งให้แก่ทายาท โดยจำเลยได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 21264 นางกาญจนา บูรณะพิมพ์ ได้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 21265 หลังจากนั้นจำเลยพร้อมกับบิดามารดายังคงครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 21265 ติดต่อกับเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 21265 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์ทั้งสองรับโอนที่ดินดังกล่าวโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้ว ห้องน้ำ และศาลพระภูมิออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 21265 ห้ามมิให้จำเลยพร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาประการแรกว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงเบี้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 21265 เดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 2667 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนางเปลื้อง มากเพ็ชร นางเปลื้องเป็นมารดาของนางยุก แซ่ฉั่ว นางลมูล ตันตยาทร นางละมัย และนางเกี๊ยว แซ่ตั้ง ส่วนจำเลยเป็นบุตรของนางยุก นางเปลื้องถึงแก่ความตายเมื่อปี 2518 ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางลมูลเป็นผู้จัดการมรดกของนางเปลื้อง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 นางลมูลได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2667 ออกเป็นแปลงย่อยรวม 6 แปลง เพื่อจะแบ่งให้แก่ทายาทของนางเปลื้องทุกคน จำเลยและนางยุกมารดาของจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่นางเปลื้องยังมีชีวิตอยู่แม้เมื่อนางลมูลเข้าเป็นผู้จัดการมรดกของนางเปลื้องจำเลยก็ยังเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ซึ่งฟังได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทของนางเปลื้องทุกคนเพราะขณะนั้นยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทโดยชัดเจน จนเมื่อนางลมูลดำเนินการขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2667 ออกเป็น 6 แปลง เพื่อจะแบ่งให้แก่ทายาทของนางเปลื้องดังกล่าว แต่นางยุกมารดาของจำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนางเปลื้องปฏิเสธไม่ยอมรับที่ดินที่แบ่งแยกให้ โดยอ้างยืนยันต่อทายาทอื่นๆ ของนางเปลื้องว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว จะไม่ยินยอมยกให้ใคร อันเป็นการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยชัดเจนว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว และเมื่อปรากฏว่าหลังจากนางกาญจนาจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางลมูลในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2528 นางกาญจนาก็ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด กลับปล่อยให้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา การครอบครองของจำเลยจึงเป็นการครอบครองโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ นับถึงวันที่โจทก์ทั้งสองรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางกาญจนา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว
ปัญหาข้อต่อมาว่า โจทก์ทั้งสองรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางกาญจนาโดยสุจริตหรือไม่ ได้ความว่า ก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางกาญจนาโจทก์ทั้งสองได้ไปตรวจดูที่ดินพิพาทก่อน ต่อมาในวันที่มีการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อจะซื้อขายกัน จำเลยได้ต่อว่าโจทก์ทั้งสองว่าซื้อที่ดินพิพาทมาได้อย่างไรโดยไม่สอบถามจำเลยก่อน เป็นนัยว่าโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาโดยมิชอบ ทั้งที่จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ ดังนี้การที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางกาญจนา ทั้งที่รู้ดีว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนแล้ว เป็นการรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตอันจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง การที่โจทก์ทั้งสองรับโอนที่ดินจากนางกาญจนา จึงทำให้จำเลยผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ ตามที่จำเลยยกขึ้นเป็นขึ้นต่อสู้ไว้แล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share