แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดต่อสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์ของลูกค้าให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ปฏิบัติผิดต่อหน้าที่นั้น ย่อมเป็นกรณีที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดต่อสัญญาจ้างแรงงานเช่นเดียวกัน ถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์จำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งได้
การที่ศาลชั้นต้นยกเอาข้อเท็จจริงในส่วนที่ว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าในสภาพเรียบร้อยเพราะโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้ระมัดระวังเป็นเหตุให้ผูใต้บังคับบัญชาของโจทก์นำรถยนต์ไปใช้ส่วนตัวจนเกิดอุบัติเหตุเสียหายขึ้นวินิจฉัยนั้นปรากฏว่าจำเลยหาได้ถือเหตุดังกล่าวเรียกร้องให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าเสียหายไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ชอบเพราะไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ครั้งสุดท้ายโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการศูนย์บริการรถยนต์ สาขาสำโรง ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 7,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2531 โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลย แต่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างประจำเดือนมีนาคม 2531เป็นเงิน 7,000 บาทให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน 7,000 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31มีนาคม 2531 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ตามฟ้องจริง แต่ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโดยเป็นผู้จัดการศูนย์บริการรถยนต์ สาขาสำโรง ได้กระทำผิดต่อสัญญาและหน้าที่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย กล่าวคือโจทก์ได้รับรถยนต์ของนางอนงค์ คงศรี ไว้ทำการซ่อมแซม เมื่อซ่อมเสร็จแล้วโจทก์ได้ยินยอมให้นายดนัย จินดาทัต ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวไปใช้ส่วนตัวทำให้เกิดอุบัติเหตุและรถได้รับความเสียหายเป็นเงิน 7,000 บาท โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางอนงค์ คงศรี ไปแล้วแต่ในการมอบรถคืนให้แก่นางอนงค์คงศรี นั้นโจทก์กลับมิได้ให้นางอนงค์ คงศรี ชำระค่าซ่อมรถให้แก่จำเลยแต่อย่างใด โจทก์ได้ตกลงกับนางอนงค์ คงศรี เป็นส่วนตัวให้นางอนงค์ คงศรี ชำระค่าซ่อมแก่โจทก์โดยตรงทำให้จำเลยไม่สามารถเรียกร้องให้นางอนงค์ คงศรี ชำระค่าซ่อมแซมแก่จำเลย โจทก์จึงต้องรับผิด ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วโจทก์ยังคงเป็นหนี้จำเลยอยู่ 8,568 บาท ขอให้ศาลยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 8,568 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไป นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง นายดนัย จินดาทัต ได้นำรถนางอนงค์ คงศรี ไปใช้โดยพลการ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถได้รับความเสียหายแล้ว นายดนัย จินดาทัต ได้เป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นางอนงค์ คงศรี ส่วนค่าซ่อมแซมรถนั้นโจทก์ตกลงทำสัญญากับนางอนงค์ คงศรี ในฐานะโจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยไม่ใช่กระทำในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในเรื่องค่าซ่อมแซมรถดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีอำนาจฟ้องแย้ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นผูัจัดการศูนย์บริการมีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานในศูนย์บริการ มิได้ระมัดระวังในการบริหารงานโดยละเลยทำให้รถของนางอนงค์ คงศรี ซึ่งเป็นลูกค้าได้รับความเสียหาย และคืนรถให้แก่นางอนงค์ คงศรี โดยมิได้เรียกให้ชำระค่าซ่อมรถก่อน เป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยไม่สามารถเรียกร้องค่าซ่อมรถจากนางอนงค์ คงศรี เป็นเงิน 15,568 บาทได้ โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่จำเลย ฉะนั้น เมื่อหักกลบลบหนี้กับค่าจ้างซึ่งจำเลยต้องชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 7,000 บาทแล้ว โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยอีกเป็นเงิน 8,568 บาท พิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 8,568 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะข้อ 2 ส่วนอุทธรณ์ข้อ 3.1 และข้อ 3.2 นั้นไม่รับ โดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาสั่งให้รับอุทธรณ์ข้อ 3.1 ของโจทก์ด้วย
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘โจทก์อุทธรณ์ตามอุทธรณ์ข้อ 2 ว่าจำเลยไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง เพราะฟ้องแย้งมิได้อาศัยเหตุตามสัญญาจ้างและไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดต่อสัญญาจ้างแรงงานและการที่จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถลูกค้าให้แก่จำเลยโดยอ้างว่าโจทก์ปฏิบัติผิดต่อหน้าที่นั้นก็เป็นกรณีที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดต่อสัญญาจ้างแรงงานเช่นเดียวกัน สิทธิตามฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นสิทธิซึ่งเกิดจากมูลกรณีตามสัญญาจ้างแรงงานเดียวกัน ต้องถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ข้อ 3.1 ของโจทก์ซึ่งอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยโดยยกเหตุผลว่า โจทก์อนุญาตให้นางอนงค์นำรถออกจากศูนย์โดยไม่เรียกเก็บค่าซ่อมรถไว้และจำเลยไม่สามารถส่งมอบรถในสภาพเรียบร้อยให้แก่นางอนงค์เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถเรียกเก็บค่าซ่อมรถจากนางอนงค์ได้นั้น เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางยกข้อเท็จจริงซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นขึ้นวินิจฉัย หรือวินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง เห็นว่าข้อเท็จจริงเรื่องโจทก์อนุญาตให้นางอนงค์นำรถออกจากศูนย์โดยมิได้เรียกเก็บค่าซ่อมรถไว้ก่อน ที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นวินิจฉัยความรับผิดชอบของโจทก์นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างไว้ในฟ้องแย้งแล้ว จึงไม่ถือว่าศาลแรงงานกลางยกข้อเท็จจริงซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีขึ้นวินิจฉัยส่วนข้อที่ว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้นางอนงค์ในสภาพเรียบร้อย เพราะโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้ระมัดระวังเป็นเหตุให้นายดนัย นำรถของนางอนงค์ไปใช้ส่วนตัว และเกิดอุบัติเหตุทำให้รถของนางอนงค์ได้รับความเสียหายนั้น ปรากฏว่าจำเลยหาได้ถือเหตุดังกล่าวเรียกร้องให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าเสียหายไม่จึงเป็นข้อที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานกลางยกข้อเท็จจริงกรณีนี้ขึ้นวินิจฉัยให้โจทก์รับผิดชอบต่อจำเลยจึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาว่าการที่โจทก์อนุญาตให้นางอนงค์นำรถยนต์ออกจากศูนย์โดยมิได้เรียกร้องค่าซ่อมนั้น เห็นว่าปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่ารถยนต์คันดังกล่าวออกจากศูนย์ไป เห็นว่าก็เพราะนายดนัย จินดาทัต ลูกจ้างของจำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้ส่วนตัวแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียหายจนต้องนำเข้าอู่ซ่อมภายนอกเมื่อซ่อมแล้วนางอนงค์ก็รับรถยนต์คืนไปโดยไม่ผ่านศูนย์อีก โจทก์จึงได้ให้นางอนงค์ทำหนังสือรับสภาพหนี้ค่าซ่อมรถไว้และได้ติดตามทวงถามให้แก่จำเลยด้วย ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 เห็นได้ว่าโจทก์ได้ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของจำเลยตามหน้าที่แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น’
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างชำระเป็นเงิน 7,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลย.