คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ไม้ฟืนเป็นไม้ที่ไม่เหมาะสมจะนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเป็นเชื้อเพลิง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 4 ก็ได้ให้คำนิยามของคำว่าไม้กับคำว่าของป่าไว้แยกต่างหากจาก กัน และไม้ฟืนถูกกำหนดให้เป็นของป่าอย่างหนึ่ง ไม้ฟืนจึงไม่ใช่ไม้ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยนำไม้ฟืนออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงไม่มีความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม้ฟืนของกลางที่จำเลยรับจ้างบรรทุกรถยนต์มานั้นถูกเก็บกองอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดฐานเก็บหาไม้ฟืนซึ่งเป็นของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยหลบหนีไปเพราะพบเห็นเจ้าหน้าที่ แสดงว่าจำเลยทราบดีว่าไม้ฟืนของกลางอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจำเลยรับจ้างบรรทุกไม้ฟืนอันเป็นของป่าซึ่งมีผู้กระทำผิดนำมากองไว้เพื่อจะนำออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิดฐานเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 ทวิ,71 ทวิลงโทษบทหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ แล้วทำไม้หวงห้ามประเภท ก. เก็บหาไม้ฟืนซึ่งเป็นของป่าหวงห้าม และทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต กับมีไม้หวงห้ามประเภท ก. ซึ่งยังไม่ได้แปรรูปไว้ในความครอบครอง และมีไม้ฟืนอันเป็นของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองเกินปริมาตรที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 ที่แก้ไขแล้วพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 11, 27, 29, 29 ทวิ, 69,71 ทวิ, 73, 74, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบไม้และของป่าของกลาง กับจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วางโทษจำคุก 2 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 ทวิ, 71 ทวิ วางโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท เรียงกระทงลงโทษรวมเป็นจำคุก2 ปี 6 เดือน ปรับ 5,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ข้อหาอื่นให้ยก จ่ายสินบนนำจับกึ่งค่าปรับไม้หรือของป่าให้ริบ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 คงจำคุกจำเลย 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกไม้ของกลางเต็มคันรถมาติดหล่มอยู่ในบริเวณป่าแม่สลิดและป่าโป่งแดงอันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่นำไม้ของกลางบนรถยนต์ดังกล่าวมาตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าไม้ทั้งหมดมีปริมาตรรวม 27.78ลูกบาศก์เมตรเป็นไม้ฟืน 24.08 ลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีก3.70 ลูกบาศก์เมตรที่โจทก์อ้างว่าเป็นไม้รังและไม้แดง อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. นั้นข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ต่อไปอีกว่า ไม้ดังกล่าวทั้ง 3.70 ลูกบาศก์เมตร ก็เป็นไม้ฟืนด้วย สำหรับความผิดฐานมีของป่าหวงห้าม (ฟืน) เกินปริมาตรที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมานั้นไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คดีคงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะมีความผิดฐานทำไม้และเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 ที่แก้ไขแล้วหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าไม้ทั้งหมดเป็นไม้ฟืนก็ถือว่าเป็นไม้เมื่อจำเลยนำไม้ดังกล่าวออกจากป่า จึงถือว่าเป็นการทำไม้ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นเห็นว่าไม้ฟืนเป็นไม้ที่ไม่เหมาะสมจะนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเป็นเชื้อเพลิงทั้งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 4 ก็ได้ให้คำนิยามของคำว่าไม้กับคำว่าของป่าไว้แยกต่างหากจากกัน สำหรับไม้ฟืนนั้นถูกกำหนดให้เป็นของป่าอย่างหนึ่ง ดังนั้นไม้ฟืนจึงไม่ใช่ไม้ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507เมื่อจำเลยนำไม้ฟืนออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงไม่มีความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า โจทก์มีพยานนำสืบว่า เห็นจำเลยขับรถยนต์บรรทุกไม้ของกลางติดหล่มอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และจำเลยยอมรับว่ารับจ้างนายยมบรรทุกไม้ที่มีอยู่ในป่านั้น ถือว่าจำเลยเป็นตัวการที่ร่วมเก็บหาไม้ของกลางซึ่งเป็นของป่า เพราะการเป็นตัวการนั้นจำเลยไม่ต้องลงมือเก็บหาไม้เองเพียงแต่รับแบ่งหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกไม้ของกลางก็ถือว่าเป็นตัวการร่วมเก็บหาของป่าแล้ว เห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกในการกระทำผิดเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงไม่มีข้อหาหรือประเด็นว่า จำเลยกระทำผิดร่วมกับพวกหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่โดยเหตุที่คดีได้ความจากคำเบิกความของพันโทฟูเกียรติ เงินช้างพยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยว่า ก่อนจับกุมนายอำเภอบ้านตากได้รายงานทางวิทยุต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตากว่า มีผู้ลักลอบตัดไม้ในป่าที่เกิดเหตุมีกองไม้ใหญ่จำนวน 4 กอง ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปจับกุมเพราะจะมีการขนย้ายออก ทั้งจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าเมื่อขับรถยนต์ไปถึงกองไม้ นายยมก็ว่าจ้างคนงานขนไม้ขึ้นบรรทุกรถยนต์เมื่อจำเลยขับรถยนต์ออกจากที่ดังกล่าวมาได้ประมาณครึ่งกิโลเมตรก็ติดหล่ม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ไม้ฟืนของกลางที่จำเลยรับจ้างบรรทุกรถยนต์มานั้น ถูกเก็บกองอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดฐานเก็บหาไม้ฟืนซึ่งเป็นของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงยังไม่ขาดตอนเมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยหลบหนีไปขณะพบเห็นเจ้าหน้าที่ แสดงว่าจำเลยทราบดีว่าไม้ฟืนของกลางอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยรับบรรทุกไม้ฟืนอันเป็นของป่าซึ่งมีผู้กระทำผิดนำมากองไว้ เพื่อจะนำออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิดฐานเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเสียเลยทีเดียวโดยไม่ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขแล้วประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทคือ เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ดังที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมาด้วยจึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือนโดยไม่รอการลงโทษและไม่จ่ายสินบนนำจับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share