คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ขับรถในวันเกิดเหตุเป็นการปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้เหตุจะเกิดในขณะที่จำเลยที่ 2 ขับรถเอามาเก็บ และก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 จะใช้รถขับไปเที่ยวมาก่อนก็ถือว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนี้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ในความเสียหายจากการทำละเมิดนั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 4ย-1791 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปส่งคนงานตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และขณะขับรถดังกล่าวกลับที่ทำงานชั่วคราวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ดื่มสุราจนเมาขับรถด้วยความประมาทเข้ามาอยู่ในทางเดินรถสำหรับรถที่แล่นสวนมาและขับด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้ชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9ย-0931กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับขี่แล่นสวนทางมาในทางเดินรถของโจทก์ตามปกติ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย รวมค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 71,249 บาท การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 71,249 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20.30 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกงาน จำเลยที่ 2 นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยพลการ โดยนำออกไปเที่ยวและดื่มสุรากับเพื่อน เป็นการกระทำนอกทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ทั้งเหตุเกิดจากความประมาทของฝ่ายโจทก์ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ความเสียหายของโจทก์ทั้งสองก็ไม่มากดังฟ้องและฟ้องเคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 47,029 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 24,220 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจกท์สำหรับจำเลยที่ 1นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2527 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1โดยประมาทชนรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียหายและโจทก์ที่ 1 บาดเจ็บ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เพียงใด ตามปัญหา จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยทที่ 2 ต่อเมื่อการละเมิดของจำเลยที่ 2เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ปัญหานี้ทางพิจารณาโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ขับรถไปส่งยามตามคำสั่งของจำเลยที่ 1ส่งเสร็จแล้วจำเลยที่ 2 ได้แวะดื่มสุราก่อน ขณะขับรถเพื่อจะกลับที่ทำงานก็เกิดชนกับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1… ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ขับรถในวันเกิดเหตุในการปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้เหตุจะเกิดในขณะจำเลยที่ 2 ขับเอารถมาเก็บและก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 จะใช้รถขับไปเที่ยวมาก่อน ก็ถือว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ในความเสียหายจากการกระทำละเมิดนั้นด้วย…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share