คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6-8/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยค้ำจุนไว้ชนโจทก์ โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 จำเลยจะยกอายุความละเมิดมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาประกันภัยต้องใช้อายุความในเรื่องประกันภัย ตามมาตรา 882 เมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยยังไม่พ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์มิได้ฟ้องผู้เอาประกันภัยภายในกำหนด1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และจำเลยผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบด้วยเท่านั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญารับประกันวินาศภัยประเภทประกันภัยค้ำจุนรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-0304 กรุงเทพมหานครของนายอดิศร แซ่ฉั่ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2524 นายอดิศรแซ่ฉั่ว ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-0304 กรุงเทพมหานครไปตามถนนพหลโยธินจากจังหวัดลำปางมุ่งหน้าไปทางจังหวัดเชียงใหม่เมื่อถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 48-49 นายอดิศรขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร แล่นสวนทางเข้ามาในช่องทางของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน น-2625 เชียงใหม่ ของเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นโจทก์ที่ 27 ขับมุ่งหน้าไปจังหวัดลำปางโดยมีโจทก์อื่นและผู้ตายนั่งอยู่ในรถคันดังกล่าว รถยนต์ของนายอดิศรพุ่งเข้าชนรถยนต์ที่โจทก์ที่ 27 ขับสวนทางมาอย่างแรงเป็นเหตุให้ผู้ที่โดยสารอยู่ในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-2625เชียงใหม่ ถึงแก่ความตาย 6 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 21 คน การกระทำของนายอดิศรเป็นการละเมิดและเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน โจทก์แต่ละคนได้รับความเสียหายตามรายละเอียดที่ปรากฏในคำฟ้อง ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1ถึงที่ 6 ที่ 8 ที่ 17 และที่ 24 เป็นเงินคนละ 10,000 บาทให้โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 12,580 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 22,650 บาทโจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 21,600 บาท โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 22,180 บาทโจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 21,170 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 15,046 บาทโจทก์ที่ 14 ถึงที่ 16 และที่ 18 เป็นเงินคนละ 20,000 บาท โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 23,300 บาท โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 22,800 บาทโจทก์ที่ 21 ที่ 22 เป็นเงินคนละ 23,500 บาท โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน45,000 บาท โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 48,500 บาท โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน32,520 บาท โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 33,310 บาท กับให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2524 จนกว่าชำระต้นเงินเสร็จ จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของนายประวิทย์นัดสาคร (ที่ถูกคือ นัดสาสาร) โจทก์ที่ 27 ผู้ขับรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น-2625 เชียงใหม่ ด้วย เพราะได้ขับรถด้วยความเร็วสูงในทางโค้งและแซงรถคันอื่น จึงเกิดเหตุขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถทั้งสองฝ่าย ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเพราะได้ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันทำละเมิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ทั้งสามสำนวนเป็นเงิน 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2524ซึ่งเป็นวันเกิดวินาศภัย จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะโจทก์ที่ 17 ที่ 19 ถึงที่ 21 ที่ 26 และที่ 27 ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินคนละ 10,000 บาท 23,300บาท 22,800 บาท 23,500 บาท 32,520 บาท และ 33,310 บาท ตามลำดับดังคำขอโดยให้เฉลี่ยตามส่วนมากน้อยกับโจทก์อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกาในประเด็นเรื่องอายุความว่า โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องจำเลยให้รับผิดโดยอาศัยมูลหนี้มาจากการกระทำละเมิดของนายอดิศร แซ่ฉั่ว ผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-0304 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยได้รับประกันไว้จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้อันเนื่องมาจากมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งสามสำนวนจึงขาดอายุความนั้นเห็นว่า คดีนี้ปรากฏว่ามูลละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2524โจทก์ทั้งสามสำนวนยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2526 เพื่อให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 ดังนั้นจำเลยจะยกอายุความละเมิดมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาประกันภัยจึงต้องใช้อายุความในเรื่องประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 882 ซึ่งปรากฏว่าขณะโจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องจำเลยยังไม่พ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย คดีของโจทก์ทั้งสามสำนวนจึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสามสำนวนข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสามสำนวนมิได้ฟ้องผู้เอาประกันภัยภายในกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ทั้งสามสำนวนจึงขาดอายุความ และจำเลยทั้งสามสำนวนผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบด้วยเท่านั้นจำเลยทั้งสามสำนวนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามสำนวนนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวที่จำเลยฎีกา จำเลยทั้งสามสำนวนมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ และเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share