คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปหลายครั้งและได้ผ่อนชำระให้บางส่วน จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่ค้างชำระให้โจทก์ไว้ การที่โจทก์นำสืบว่าเดิม จำเลยขอยืมเงินจาก ท. โจทก์เป็นผู้สลักหลังเช็ค ที่จำเลยสั่งจ่ายให้ ท. เพื่อชำระหนี้เงินยืมและจำเลยยอมให้โจทก์เก็บเกี่ยวมันสัมปะหลังในไร่ของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ในเมื่อโจทก์ต้อง ชำระหนี้แก่ ท. แทนจำเลยต่อ มาจำเลยได้ ยืม เงินจาก ท. อีกให้โจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน และโจทก์ได้ ชำระหนี้แทนจำเลยไป จำเลยจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ เป็นการนำสืบถึง ที่มาแห่งมูลหนี้ ไม่ถือว่าเป็นการนำสืบแตกต่าง จากฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ เพราะโจทก์ฟ้องโดย อาศัยหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลักซึ่ง มีจำนวนหนี้เท่ากัน และไม่มีหนี้จำนวนอื่นอันจะเป็นหนี้คนละรายกัน ถือได้ว่าโจทก์นำสืบถึง มูลหนี้ได้ ตาม ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา จำเลยยืมเงินโจทก์ไปหลายครั้ง ได้ผ่อนชำระให้โจทก์บางส่วน จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2523 คงค้างชำระเงินต้น 130,000 บาท และดอกเบี้ยอีก 50,000 บาท จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อถึงกำหนดเช็คทั้งสามฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ จำเลยเป็นหนี้โจทก์รวมถึงเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 260,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 260,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินต้น 130,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ตามฟ้อง ความจริงโจทก์และสามีให้จำเลยติดต่อเหมาช่วงงานสร้างทางในเขตปฏิรูปที่ดินจากผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้รับเหมาโดยตรงจากทางราชการในราคา 1 ล้านบาทเศษ โดยให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โจทก์เป็นผู้ลงทุนเป็นเงิน 300,000 บาท แล้วให้จำเลยลงชื่อในสัญญากู้ไว้เป็นประกัน จำเลยได้ก่อสร้างทางจนแล้วเสร็จ ผู้รับเหมาจ่ายเงินให้แต่ละงวด จำเลยก็มอบให้โจทก์ทุกครั้งแต่ผู้รับเหมายังชำระเงินไม่ครบได้หลบหนีไป โจทก์จึงมาบังคับให้จำเลยชำระแทนสัญญากู้เป็นนิติกรรมอำพรางเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 180,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากเงินต้น 130,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์นำสืบได้สมฟ้องแล้ว จำเลยไม่มีพยานมาสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ขอให้บังคับจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า การที่โจทก์นำสืบว่า เดิมจำเลยขอยืมเงินจากนายทิว แซ่แต้ จำนวน 203,000 บาทโจทก์เป็นผู้สลักหลังเช็ค 2 ฉบับ ที่จำเลยสั่งจ่ายให้นายทิวเพื่อชำระหนี้เงินยืม เหตุที่โจทก์ยอมสลักหลังเช็คค้ำประกันจำเลยก็เพราะจำเลยยอมให้โจทก์เก็บเกี่ยวมันสัมปะหลังในไร่ของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ในเมื่อโจทก์ต้องชำระหนี้ให้แก่นายทิวแทนจำเลยตามหนังสือสัญญาระหว่างโจทก์จำเลย เอกสารหมาย จ.10 ต่อมาจำเลยได้ยืมเงินจากนายทิวอีก 100,000 บาทให้โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันอีก ครั้นเป็นถึงกำหนด จำเลยไม่ชำระหนี้ให้นายทิว นายทิวได้ทวงถามโจทก์ให้ชำระ โจทก์จึงชำระหนี้ดังกล่าวแทนจำเลยไป และจำเลยได้มาทำหนังสอืยอมรับชำระหนี้แก่โจทก์ใหม่ตามเอกสารหมาย จ.3และได้ผ่อนชำระมาหลายครั้งจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2523 จำเลยยังเห็นหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินต้น 130,000 บาท ดอกเบี้ย 50,000 บาท รวม 180,000 บาท เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยให้นายทิวไป จำเลยจึงต้องรับผิดใช้หนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปหลายครั้งและได้ผ่อนชำระหลายครั้ง เมื่อคิดถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2523 จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินต้น 130,000 บาท และดอกเบี้ยอีก 50,000 บาท ก็ไม่ถือว่าเป็นการนำสืบแตกต่างจากฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ เพราะโจทก์ฟ้องโดยอาศัยหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักซึ่งมีจำนวนหนี้เท่ากัน (ตามรายการด้านหลัง เอกสารหมาย จ.3) ไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยมีหนี้จำนวนอื่นต่อกันอีก ทั้งจำเลยก็ไม่มีพยานมาสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ถือว่าโจทก์นำสืบถึงลูกหนี้ได้ตามฟ้อง มิใช่หนี้คนละราย แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยชำระไม่เต็มตามฟ้องก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้องพิพากษาให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไม่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท

Share