คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14778/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของโจทก์เรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงระเบียบบริหารงานของโจทก์ที่ประกาศให้ลูกค้าทราบเพื่อประโยชน์ในการติดต่อและเป็นแนวทางในการตัดสินใจเพื่อทำธุรกรรมกับธนาคารเท่านั้น จึงไม่มีผลบังคับเหมือนเช่นธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โดยต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยทั่วไปและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เรียกจากลูกค้าและจะเรียกเกินกว่าประกาศนั้นไม่ได้ ทั้งจะนำประกาศของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ไม่ได้เพราะโจทก์จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 และมีประกาศกระทรวงการคลังกำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งไม่มีข้อกำหนดให้โจทก์ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยดังเช่นธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด ประกาศของโจทก์เรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงกรอบและแนวทางในการเรียกดอกเบี้ยตามคุณภาพลูกค้าแต่ละรายของโจทก์ โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยกับจำเลยรวม 14 ครั้ง แม้การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในบางครั้งจะไม่ตรงตามประกาศของโจทก์ก็เป็นดุลพินิจในการพิจารณากับลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะ โจทก์จึงมีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยกับจำเลยไม่เป็นไปตามประกาศของโจทก์ได้ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 261,624.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 205,211.53 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 138,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์ นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดโฉนดที่ดินเลขที่ 80763 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 212,885.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 และในอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสำหรับเงินกู้รายย่อยระยะยาวประเภทเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินที่กู้เกิน 200,000 บาท แต่ไม่เกิน 750,000 บาท ตามประกาศของโจทก์ นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ให้หักจำนวนเงินที่จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ออกจากยอดหนี้ต้นเงินค้างชำระทุกครั้งก่อนคิดคำนวณดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาการปรับดอกเบี้ยของโจทก์ทั้ง 14 ครั้ง โดยเปรียบเทียบกับประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศของโจทก์เรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงระเบียบบริหารงานของโจทก์ที่ประกาศให้ลูกค้าทราบเพื่อประโยชน์ในการติดต่อและเป็นแนวทางในการตัดสินใจเพื่อทำธุรกรรมกับธนาคารเท่านั้นจึงไม่มีผลบังคับเหมือนเช่นธนาคารพาณิชย์อื่นที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดซึ่งมีข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่เรียกจากลูกค้าและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและจะเรียกเกินกว่าประกาศนั้นไม่ได้ และจะนำประกาศของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมาอนุโลมใช้กับโจทก์ไม่ได้เพราะโจทก์จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 ซึ่งมีประกาศของกระทรวงการคลังกำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี และไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยดังเช่นธนาคารพาณิชย์อื่นแต่ประการใด ดังนั้น ประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จึงเป็นเพียงกรอบและแนวทางในการเรียกดอกเบี้ยกับลูกค้าของโจทก์ในแต่ละรายตามคุณภาพของลูกค้า และการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ทั้ง 14 ครั้ง นั้น ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน แม้การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จะไม่ตรงตามประกาศของโจทก์ไปบ้างในบางครั้งก็เป็นเรื่องดุลพินิจของโจทก์ในการพิจารณากับลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะจำเลยซึ่งเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หลายครั้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามประกาศของโจทก์ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งกระทำต่อจำเลยจึงเป็นการถูกต้องและกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามประกาศของโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 205,211.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน 56,412.48 บาท หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share