แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ น. ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารที่ร่วมรับคนโดยสารในกิจการของจำเลยได้ โจทก์ไปขอสุราต่างประเทศจาก น.ถึงที่พักในเวลา 23 นาฬิกาเศษ เมื่อ น.ไม่มีสุราต่างประเทศโจทก์ก็ยอมรับเอาเงินจำนวน 200 บาท จาก น.ถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการประพฤติชั่วตามข้อบังคับของจำเลยข้อ 4.13 ย่อมเป็นเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การกระทำความผิดวินัยตามข้อ 4.13 จำเลยกำหนดให้ลงโทษด้วยการให้ออกโดยกำหนดไว้ในข้อ 9 ของข้อบังคับว่า การลงโทษให้ออกนั้นให้กระทำในกรณีที่พนักงานกระทำผิดวินัยอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่องค์การไม่ถึงร้ายแรง และได้รับการเตือนเป็นหนังสือแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์มาก่อนและกรณีไม่ต้องด้วยข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย โจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อบังคับ โดยประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ จึงเป็นเรื่องโจทก์จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 479/2531 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 25,650 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,655 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 เวลาประมาณ 23.30 นาฬิกา โจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้ควบคุมดูแลรถยนต์โดยสารสาย 74 ที่เป็นของจำเลยและรถร่วมบริการของเอกชนและเป็นผู้ที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่เจ้าของรถร่วมบริการได้ขึ้นไปที่ห้องเลขที่ 2031/60 ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนางเนื้อทอง ศรีสว่าง เจ้าของรถร่วมบริการ (มินิบัส)สาย 74-4 ที่โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาด้วยอาการมึนเมาสุรา และแต่งเครื่องแบบของจำเลยโดยโจทก์ไม่มีสิทธิแล้วได้ใช้อำนาจหน้าที่บังคับขู่เข็ยเรียกร้องเอาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากนางเนื้อทองโดยอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในสาย 74 สามารถทำอะไรก็ได้ทุกอย่างไม่ว่าจะรายงานในเรื่องต่าง ๆ หรือย้ายสายการเดินรถของนางเนื้อทองไปอยู่สายอื่น เพื่อมิให้โจทก์กระทำการดังกล่าว โจทก์จึงขอสุราต่างประเทศจากนางเนื้อทอง ด้วยความกลัว นางเนื้อทองจึงยินยอมแต่เนื่องจากไม่มีสุราต่างประเทศจึงได้เปลี่ยนเป็นเงินจำนวน 200 บาท ให้โจทก์รับไป การกระทำของโจทก์นอกจากมีความผิดทางอาญาแล้วยังเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับจำเลยมีคำสั่งพักงานและแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนโจทก์โจทก์ให้การรับสารภาพว่า โจทก์ได้ไปที่ห้องพักของนางเนื้อทองและรับเงินจำนวน 200 บาท นี้ไปจริง จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนที่ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยฐานปฏิบัติหน้าที่โดยเจตนาเพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์อันมิควรได้ จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผน คำสั่งวิธีปฏิบัติของจำเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง คำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงชอบด้วยระเบียบ คำสั่งข้อบังคับและกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 479/2531 และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์พูดจาบีบบังคับขู่เข็ญนางเนื้อทอง ศรีสว่าง เป็นเหตุให้นางเนื้อทองเกิดความกลัวว่าจะได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถนำรถมาวิ่งร่วมกับจำเลยได้ การที่โจทก์พูดจาบีบบังคับขู่เข็ญนางเนื้อทองนี้ นายไพบูลย์ นิลาทะวงษ์ พนักงานขับรถของนางเนื้อทองก็ได้ยินด้วย และเมื่อนางเนื้อทองได้เล่าเรื่องให้จ่าสิบตำรวจขวัญเมือง เดชเกศรินทร์ ซึ่งเป็นสามีฟัง จ่าสิบตำรวจขวัญเมืองจึงได้ร้องเรียนต่อจำเลยซึ่งหากจ่าสิบตำรวจขวัญเมืองรู้จักชอบพอกับโจทก์มาก่อนก็คงจะไม่ร้องเรียนเช่นนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของโจทก์เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงแล้วพิเคราะห์แล้วเห็นว่าปัญหาข้อนี้ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าการที่โจทก์ได้รับเงินจากนางเนื้อทองไปนั้น ไม่ได้เกิดจากการข่มขู่ของโจทก์ในลักษณะที่ทำให้นางเนื้อทองต้องจำยอมให้เงินแก่โจทก์ไป ดังนี้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่านอกจากนั้นโจทก์ยังได้กระทำผิดวินัยตาม ข้อ 4.13 แห่งข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 46 ว่าด้วยวินัย การสอบสวนการลงโทษและการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงาน พ.ศ. 2524 อีกด้วยนั้นพิเคราะห์แล้ว ตามข้อ 4 และข้อ 4.13 แห่งข้อบังคับของจำเลยฉบับดังกล่าว ซึ่งจำเลยอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 13 ที่ 479/2531ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2531 มีข้อความว่า
“ข้อ 4 พนักงานต้องรักษาวินัยตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ฯลฯ
ข้อ 4.13 ต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว เช่นประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้หมกมุ่นในการพนัน กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตน” พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาย 74 แผนกเดินรถ กองเดินรถที่ 1 เขตการเดินรถที่ 10 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม2531 เวลา 23 นาฬิกาเศษโจทก์ได้ไปที่แฟลตของนางเนื้อทอง ศรีสว่างภรรยาของจ่าสิบตำรวจขวัญเมือง เดชเกศรินทร์ และได้รับเงินจากนางเนื้อทอง 200 บาท เพื่อซื้อสุราต่างประเทศดื่ม เนื่องจากนางเนื้อทองไม่มีสุราต่างประเทศที่โจทก์ต้องการ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ดำรงตำแหน่งที่สามารถให้คุณให้โทษแก่นางเนื้อทองผู้เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารที่ร่วมรับคนโดยสารในกิจการของจำเลยได้ และโจทก์ได้ไปขอสุราต่างประเทศจากนางเนื้อทองถึงที่พักในเวลา 23 นาฬิกาเศษครั้นเมื่อนางเนื้อทองไม่มีสุราต่างประเทศตามความต้องการของโจทก์ โจทก์ก็ยังยอมรับเอาเงินจำนวน 200 บาทไปเช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำที่โจทก์ไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าเป็นสิ่งที่โจทก์ได้กระทำและได้รับเงินมาโดยชอบอันปราศจากข้ออันพึงถูกตำหนิติเตียนจากบุคคลอื่น หรือนางเนื้อทองกับจ่าสิบตำรวจขวัญเมือง พฤติการณ์ของโจทก์จึงถือได้ว่า โจทก์ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการประพฤติชั่วตามข้อ 4.13 ตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว และเป็นเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ การเลิกจ้างของจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังโจทก์ฟ้อง แต่การเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์กระทำความผิดวินัยตามข้อ 4.13แห่งข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวนั้นเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อ 9.8 ซึ่งมีโทษตามข้อ 9 ที่กำหนดว่า การลงโทษให้ออกนั้นให้กระทำในกรณีที่พนักงานกระทำผิดวินัยอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่องค์การไม่ถึงร้ายแรงและได้รับการเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดไว้โดยเฉพาะ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า จำเลยได้เคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์มาก่อน และกรณีไม่ต้องด้วยข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 3,830 บาท กับค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท รวมทั้งสิ้นเดือนละ 4,230 บาท ส่วนเบี้ยเลี้ยงวันละ 25 บาท จำเลยจะจ่ายเมื่อมีการทำงานเกิน 10 ชั่วโมง ของแต่ละวัน หากวันใดทำงานไม่เกิน10 ชั่วโมง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับ เบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจึงมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 25,380 บาท ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ปรากฏว่า โจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อ9.8 คือประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่กรณีจึงเป็นเรื่องโจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยผู้เป็นนายจ้างตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ตำ่กว่าเดิมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 10 ที่ 479/2531และคำขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 25,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง