คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเล็ก ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และตั้งนายฐิตพัฒน์ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายกับนางผ่องพรรณไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากันผู้คัดค้านไม่ใช่บุตรของผู้ตาย และไม่ปรากฏว่าผู้ตายรับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร ในวันที่ทำพินัยกรรม ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ รู้ตัวดี สามารถทำพินัยกรรมได้ พินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บุตรทั้งสามคนของผู้ตายกับผู้ร้อง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องมิได้ปกปิดทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายอย่างสมควรแล้ว นายฐิตพัฒน์ ไม่เหมาะสมและไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งตั้งผู้ร้องกับนายฐิตพัฒน์หรือประสงค์ ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายเล็ก ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งว่า ผู้ร้องและนายเล็ก ผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสเมื่อเดือนสิงหาคม 2530 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนางสาวบงกช เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 นายฉัตรปวุฒิ และนางสาวกนกพรรณ เกิดเมื่อปี 2535 ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนางผ่องพรรณ ตามหลักฐานการตรวจดี เอ็น เอ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 และสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ ผู้คัดค้านเกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2529 โดยมีผู้แจ้งการเกิดว่าชื่อเด็กชาย ช. เป็นบุตรของนายประสงค์ และนางวารี ตามสำเนาสูติบัตร ต่อมาผู้คัดค้านเปลี่ยนชื่อเป็นพลภัค ตามสำเนาหนังสือเปลี่ยนชื่อตัว ส่วนนายประสงค์เปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลเป็นนายฐิตพัฒน์ ตามสำเนาหนังสือเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุล ภายหลังจึงมีการแก้ไขว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของนางผ่องพรรณ ขณะผู้ตายอยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องนั้น ผู้ตายประกอบอาชีพค้าขายยางรถยนต์ ตั้งบริษัทธนายางพาณิชย์ จำกัด ผู้ตายเริ่มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 หรือ 27 กุมภาพันธ์ 2546 จนกระทั่งวันที่ 6 มีนาคม 2546 จึงออกจากโรงพยาบาล ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2546 ได้กลับเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์อีกครั้งจนกระทั่งวันที่ 26 มีนาคม 2546 มีอาการทรุดหนัก จึงนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ แพทย์ทำการผ่าตัดผู้ตายทันที ผู้ตายพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพจนกระทั่งวันที่ 17 เมษายน 2546 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามสำเนามรณบัตร ผู้ตายมีทรัพย์มรดก เช่น ที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน หุ้นในบริษัทธนายางพาณิชย์ จำกัด ตามสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น เงินฝากในธนาคาร ตามสำเนาสมุดเงินฝาก และกองทุนในธนาคารตามสำเนา สมุดกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ ตามพินัยกรรมหรือสำเนาพินัยกรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า พินัยกรรมปลอมหรือมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้หรือไม่ จากคำเบิกความของนายแพทย์สุรัตน์และผู้คัดค้านบ่งชี้ว่าในวันที่ระบุในพินัยกรรมคือวันที่ 13 มีนาคม 2546 ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถพูดคุยได้จึงสอดคล้องและเจือสมกับคำเบิกความของนายวิศิษฎ์และผู้ร้องที่เบิกความว่า มีการสอบถามผู้ตายว่าจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ผู้ใด ทำให้คำเบิกความของนายวิศิษฎ์และผู้ร้องมีน้ำหนักรับฟังยิ่งขึ้นสำหรับนายแพทย์บรรยง ที่ผู้คัดค้านอ้างนั้นก็เป็นแพทย์ที่ตรวจผู้ตายขณะส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพจึงไม่ทราบอาการของผู้ตายขณะรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรม และทำในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ดังนั้น พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ฎีกาของผู้คัดค้านประการนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อพินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสามของผู้ตายคือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ และเด็กหญิง ก จึงเป็นการตัดทายาทโดยธรรมของผู้ตายถ้าหากมีโดยปริยายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสอง ดังนั้นแม้หากจะฟังว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว อันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวมาแล้ว ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องที่ว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share