คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทระบุว่ากรรมสิทธิ์จะตกแก่ผู้ซื้อต่อเมื่อชำระราคาเป็นงวด ๆ ตามที่กำหนดไว้ครบถ้วนแล้ว จึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าจะชำระราคาครบถ้วนตามงวด เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระราคาตามงวดโจทก์ได้เข้าครอบครองรถยนต์พิพาทนำมาขายทอดตลาด ขายแล้วได้เงินไม่ครบโจทก์จึงเรียกเงินราคาค่ารถยนต์ที่ยังขาดอยู่จากจำเลยที่ 1 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ดังนี้เงินจำนวนดังกล่าวไม่มีข้อสัญญาข้อใดกำหนดให้ถือเป็นค่าเสียหาย และจำนวนเงินนั้นก็คือเงินราคารถยนต์ตามสัญญาซื้อขายนั่นเอง จึงจะถือเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและสูงเกินไปไม่ได้ สัญญาระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินงวดต่าง ๆ ตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ใด ๆ ในสัญญา ผู้ซื้อยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ขายอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนี้เงินราคารถยนต์ที่ขาดก็คือเงินต่าง ๆ ที่กำหนดในสัญญานั้นเอง จำเลยที่ 1ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญาไม่ใช่ร้อยละ 7.5ต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข รถยนต์ จากโจทก์ 1 คัน ราคา 478,700 บาท ชำระเงินครั้งแรก 30,500 บาท ที่เหลือตกลงชำระแก่โจทก์เป็นรายเดือน รวม 30 งวด กำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อชำระครบกำหนดตามสัญญาแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวตกเป็นของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันโดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระค่างวดให้เพียง 2 งวดจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินค่างวดตั้งแต่งวดที่ 3 โจทก์ติดตามรถยนต์กลับคืนได้ และนำรถยนต์ดังกล่าวออกขายได้เงินเพียง370,000 บาท เมื่อนำไปหักราคารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระคงขาดเงินอยู่ 55,260 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินจำนวน 61,476 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 55,260 บาท นับถัดจากวันฟ้อง
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 7,000 บาทแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบและศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ ตามฟ้องโดยมีเงื่อนไขในราคา478,700 บาท จำเลยที่ 1 ชำระครั้งแรก 30,500 บาท ที่เหลือชำระเป็นงวด รายเดือนเดือนละ 14,940 บาท งวดแรกภายในวันที่7 ตุลาคม 2529 งวดต่อไปทุกวันที่ 7 ของเดือนจนกว่าจะครบ 30 งวดกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวจะตกเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1ชำระเงินดังกล่าวครบถ้วนแล้ว โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ต่อมาจำเลยที่ 1ชำระได้เฉพาะ 2 งวด เป็นเงินเพียง 22,940 จากนั้นจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระราคารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 3 โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย รวมเงินค่ารถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 53,440 บาท ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2530 โจทก์ติดตามรถยนต์พิพาทได้และทำการขายทอดตลาดให้แก่บุคคลภายนอกเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2530ได้เงินเพียง 370,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เมื่อรวมกับเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้โจทก์ไปแล้วจึงเป็นเงินทั้งสิ้น423,440 บาท ยังคงขาดเงินอยู่จำนวน 55,260 บาท จึงจะครบราคารถยนต์พิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายให้ไว้แก่โจทก์มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวน 55,260 บาท จากจำเลยทั้งสามได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่าตามสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 3ระบุว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกแก่ผู้ซื้อก็ต่อเมื่อชำระราคาที่กำหนดไว้โดยมีเงื่อนไขดังปรากฏข้างต้น (ชำระเป็นงวด ๆ) เป็นเงินสดครบถ้วนแล้วดังนี้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขซึ่งย่อมใช้บังคับได้และกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยังไม่โอนเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระราคารถยนต์พิพาทครบถ้วนตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 และเมื่อจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระราคารถยนต์ตามงวดและข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสามให้ชำระราคารถยนต์พิพาทแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระโจทก์จึงได้ครอบครองรถยนต์พิพาทและขายทอดตลาดแก่บุคคลภายนอกได้เงินเพียง 370,000 บาท จึงยังคงขาดเงินอยู่จำนวน 55,260 บาท จึงจะครบราคาซื้อขายที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาแก่โจทก์ เงินส่วนนี้ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 10 ข้อ 11 และข้อ 12 ระบุว่ากรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระราคาตามงวด โจทก์มีสิทธิเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทและย่อมมีสิทธิขายทอดตลาดได้ด้วย และเมื่อขายแล้วได้เงินไม่พอ จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินจำนวนที่ขาดอยู่ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ยอมตกลงตามข้อสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินจำนวน 55,260 บาทดังกล่าว อันเป็นเงินราคาค่ารถยนต์ที่ยังขาดอยู่ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับชดใช้ให้โจทก์จากจำเลยที่ 1ได้ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินจำนวนที่ขาดอยู่ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ด้วยที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินจำนวน 55,260 บาท เมื่อปรากฏว่าโจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์พิพาท เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2530 ได้เงินซึ่งอยู่ในงวดที่ 15 โจทก์ย่อมได้ประโยชน์ไม่ต้องรอถึงงวดที่ 30แม้ขายแล้วยังขาดเงินอยู่ 55,260 บาท ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ตกลงไว้ล่วงหน้าจึงเป็นลักษณะเบี้ยปรับ ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงได้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา เพราะเงินจำนวนดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีข้อใดกำหนดให้ถือเป็นค่าเสียหาย ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวก็ถือเป็นเงินราคารถยนต์พิพาทในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 และที่ขาดอยู่ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามสัญญานั่นเอง ส่วนที่โจทก์มีสิทธิขายทอดตลาดรถยนต์และได้เงินมาก่อนกำหนดอยู่บ้าง กรณีเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จึงไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาต่อโจทก์เท่านั้น และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันใดจากฝ่ายจำเลยว่าโจทก์ได้บวกดอกเบี้ยหรือกำหนดราคาที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับราคาในตลาดทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องฟังว่าราคารถยนต์พิพาทตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นราคาปกติที่โจทก์ขายโดยทั่วไปโดยวิธีมีเงื่อนไขเช่นนั้นดังนั้นจำนวนเงินราคารถยนต์ที่ขาดอยู่อันเกิดจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระราคาก็คือเงินราคารถยนต์ตามลักษณะของสัญญาซื้อขาย ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาไว้ต่อโจทก์ และโจทก์ผู้ขายดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 470 และ 471 จะถือเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและสูงเกินไปดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้นหาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอากับจำเลยทั้งสามในอัตราเท่าใด ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมายจ.3 ข้อ 6 วรรคสอง ระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินงวดต่าง ๆ ตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ใด ๆ ในสัญญานี้ ผู้ซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ขายอัตราร้อยละ 15ต่อปี ฯลฯ เห็นว่า ตามสัญญาข้อดังกล่าวจำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ไว้ชัดว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินงวดต่าง ๆ หรือผิดนัดชำระหนี้ใด ๆ ในสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี เงินจำนวน 55,260 บาท ก็คือเงินงวดต่าง ๆ ที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระให้โจทก์ตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญานั่นเอง จึงเป็นเงินที่เกิดจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์และต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 6 วรรคสองซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในจำนวนเงินดังที่กล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3ข้อ 12 กรณีผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินงวดต่าง ๆ ผู้ซื้อเป็นชดใช้เงินที่ขาดอยู่ให้ผู้ขาย เงินที่ขาดอยู่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้จึงให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะเงินที่ขาดอยู่ดังกล่าวมิใช่ค่าเสียหายแต่เป็นเงินที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ใด ๆ ตามที่จำเลยตกลงไว้ต่อโจทก์ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 6วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน55,260 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share